Bangpakok Hospital

สังเกตอาการ “แพ้-เมากัญชา” ที่ผิดปกติควรไปพบแพทย์

21 ก.ค. 2565


กัญชาปรากฏอยู่ในตำรับยาและตำราอาหารของไทยตั้งแต่อดีตมานานแล้ว ซึ่ง “กัญชา” มีรสเมา กลิ่นเหม็นเขียว แพทย์แผนไทยใช้ประโยชน์ของกัญชาเป็นยาเจริญอาหาร ชูกำลัง มีการใช้ดอกของกัญชาผสมเป็นยาแก้โรคเส้นประสาท และโรคนอนไม่หลับต่างๆ

นอกจากนี้สรรพคุณ "กัญชาทางการแพทย์" ที่มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศ พบว่า มีสรรพคุณเด่นเรื่องการช่วย "คลายเครียด" และบรรเทาความวิตกกังวลได้ และมีส่วนช่วยรักษา และบรรเทาอาการของโรคร้ายแรงได้หลายโรค  ได้แก่

  • ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากการได้รับเคมีบำบัด
  • เพิ่มความอยากอาหาร ในผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์
  • ลดอาการปวด ทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง
  • ช่วยควบคุมอาการลมชัก
  • ลดความดันในตาของผู้ป่วยต้อหิน
  • ป้องกันและรักษาอาการสมองฝ่อ

บริโภค "กัญชา" อย่างไรให้ถูกต้อง ?

กรมอนามัยได้แนะนำปริมาณใบกัญชาต่อเมนูไว้ในประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ดังนี้

- อาหารประเภททอด : ใช้ใบกัญชา 1-2 ใบสด กรณีทำไข่เจียว แนะนำครึ่งใบ ถึง 1 ใบสด เนื่องจากสาร THC และ CBD ละลายได้ดีในน้ำมัน

- อาหารประเภทผัด : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด

- อาหารประเภทแกง : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด

- อาหารประเภทต้ม : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด

- ผสมในเครื่องดื่ม ขนาด 200 มิลลิลิตร : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด

 

โดยผู้ที่ต้องระมัดระวังในการรับประทาน "กัญชา" คือ

  1. เด็ก เยาวชน ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี อาจเกิดภาวะเสพติดได้
  2. ผู้สูงอายุ
  3. หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร รวมทั้งผู้หญิงที่วางแผนกำลังจะมีบุตร
  4. ผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ที่ตับและไตบกพร่อง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
  5. ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟารินหรือยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำ เพราะกัญชาจะไปเพิ่มฤทธิ์ให้ยาวาร์ฟารินจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย
  6. ผู้ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยารักษากลุ่มโรคทางจิตเวช

 

สังเกตอาการ แพ้-เมากัญชาพร้อมวิธีรักษาเบื้องต้น

ถึงแม้ว่ากัญชาจะมีสรรพคุณมากมาย แต่ใช่ว่าใครก็จะสามารถกินได้ เพราะกัญชามีสาร THC จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง คือ มีฤทธิ์ต่อสมองและทำให้ร่างกายอารมณ์ และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป ผู้เริ่มกินเมนูกัญชาควรเริ่มในปริมาณน้อย แค่ครึ่งใบ - 1 ใบต่อวันก่อน

 

ทั้งนี้ การตอบสนองของร่างกายเมื่อได้รับกัญชามีความแตกต่างกันแต่ละบุคคล ดังนั้น ควรสังเกตอาการตนเองทุกครั้งเมื่อใช้ 1 - 3 ชั่วโมง โดยให้เน้นใช้เพื่อการแพทย์ในการรักษาโรคเท่านั้น สำหรับอาการผิดปกติที่พบบ่อย ได้แก่ ง่วงนอนมากกว่าปกติ, ปากแห้ง,  คอแห้ง, วิงเวียนศีรษะ, คลื่นไส้อาเจียน

 

อาการผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์ ได้แก่

หัวใจเต้นเร็วและรัวผิดจังหวะ,  เป็นลมหมดสติ, เจ็บหน้าอกร้าวไปที่แขน, เหงื่อแตก ตัวสั่น, หายใจไม่ออกอึดอัด, เดินเซ พูดไม่ชัด สับสน กระวนกระวาย, วิตกกังวล หวาดระแวงไม่สมเหตุสมผล, หูแว่ว เห็นภาพหลอน, พูดคนเดียว, อารมณ์แปรปรวน

 

วิธีแก้อาการ "เมากัญชา" เบื้องต้น

สำหรับ ผู้ที่บริโภคกัญชาแล้วมีอาการ "เมากัญชา"  มีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีแก้อาการเมากัญชาหรืออาการผิดปกติเล็กน้อยในเบื้องต้น ดังนี้

  1. หากปากแห้งคอแห้ง ให้ดื่มน้ำเปล่าตามในปริมาณมาก
  2. ดื่มน้ำมะนาวครึ่งลูก ผสมเกลือปลายช้อน
  3. เคี้ยวพริกไทย
  4. หากรู้สึกวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ให้ดื่มน้ำขิง

 

ที่มา : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3

LINE Official Account :  https://page.line.me/947ptrfh

YouTube : https://youtube.com/channel/UCrWTFEyhNwZtPo2JieYZftw


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.