หายจากโควิด ต้องรู้ “ภาวะลองโควิด” Long Covid อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อ
กลุ่มอาการ Long Covid คือ อาการที่หลงเหลืออยู่ของเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะพบหลังจากหายป่วยในช่วง 1-3 เดือนแรก ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่เชื้อลงปอด และพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักตัวมาก ผู้สูงอายุ สามารถพบได้ถึง 60 – 70% ขึ้นไป นอกจากนี้กลุ่มผู้ป่วยที่มีร่างกายแข็งแรง อายุน้อย ไม่มีภาวะอ้วนและหายจากโควิด-19 ก็อาจจะมีกลุ่มอาการ Long Covid ได้เช่นกัน แต่ไม่มากเพียง 5-10% ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงอาการ Long Covid จึงขึ้นอยู่กับโรคประจำตัว และอายุของผู้ป่วย
อาการในผู้ป่วยที่มีภาวะ Long Covid ที่พบบ่อย คือ รู้สึกเหมือนมีไข้ตลอดเวลา เหนื่อยง่าย อ่อนแรง อ่อนเพลียเรื้อรัง ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกแน่น ๆ หน้าอก ไอและปวดศีรษะ ท้องร่วง มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ปวดตามข้อตามรู้สึกจี๊ด ๆ ตามเนื้อตัวหรือปลายมือปลายเท้า มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ละคนมีการแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับเมื่อหายจากการติดเชื้อ ก็จะมีการฟื้นฟูร่างกายที่ต่างกัน บางคนหายจากการติดเชื้อแล้วกลับมาเป็นปกติเลย หรือมีอาการดีขึ้นในระยะเวลา 6 สัปดาห์ แต่ในผู้ป่วยบางรายเมื่อหายจากการป่วยโควิด-19 แล้ว ยังมีอาการคล้ายเป็นโควิด-19 ต่อเนื่องมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เรียกว่า Long Covid โดยจะมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ ปวดเมื่อยตามข้อหรือมีภาวะไอเรื้อรังได้
ภาวะเหล่านี้มักพบมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักตัวมาก เนื่องจากลักษณะของอวัยวะต่าง ๆ ของร่ายการที่เสื่อมถอยร่วมกับมีการอักเสบจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการต่อเนื่องได้นานมากกว่าคนปกติ เพราะฉะนั้นการดูแลรักษาร่างกายให้กลับมาแข็งแรง เช่น การออกกำลังกายต่อเนื่อง การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงความวิตกกังวล จะสามารถช่วยให้กลุ่มอาการของ Long Covid ค่อย ๆ ดีขึ้น
- 5 วิธีปฏิบัติ เมื่อมีอาการ Long Covid (ลอง โควิด)
วิธีการดูแลและแนวทางการปฏิบัติตนเองเมื่อมีอาการ Long Covid สามารถทำได้ดังนี้
- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ หายใจลำบาก ติดขัด หรือจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและทำการรักษา
- ผู้ป่วยที่เพิ่งหายป่วยควรออกกำลังกายเบาๆไม่หนักเกินไป และควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับสู่สภาวะที่แข็งแรง และเน้นท่าที่บริหารปอดเพื่อฟื้นฟูส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจมีความแข็งแรงและถุงลมในส่วนต่าง ๆ ของปอด ถูกนำมาใช้แลกเปลี่ยนก๊าซได้เต็มที่
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดหรือวิตกกังวล ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาแม้อยู่บ้าน หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะควันบุหรี่ธรรมดาหรือแม้แต่บุหรี่ไฟฟ้า ฝุ่น PM2.5
- ควรรักษาสุขอนามัยของตนเองโดยการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ ทุกครั้งที่สัมผัส และควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร
หากดูแลรักษาร่างกายตนเองให้กลับมาแข็งแรงหากผู้ป่วยหมั่นดูแลสุขภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่วิตกกังวลจนเกินไป ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และมีความเชื่อมั่นว่าร่างกายจะค่อย ๆ ฟื้นฟูกลับมาดีขึ้น โดยสามารถกลับมาเป็นปกติได้เกือบ 100%
ที่มาข้อมูล : สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ วันที่ 4 ตุลาคม 2564
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3
Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3
LINE Official Account : https://page.line.me/947ptrfh
YouTube : https://youtube.com/channel/UCrWTFEyhNwZtPo2JieYZftw