Bangpakok Hospital

มาทำความรู้จักกับ Port A Cath

5 พ.ค. 2565






Port A Cath หรือเรียกสั้นๆว่า พอร์ต

เป็นอุปกรณ์ที่ฝังไว้ใต้ผิวหนังของร่างกาย เพื่อใช้ในการนำตัวอย่างเลือด, การให้ยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัด  รวมทั้งสารน้ำและสารอาหารต่าง ๆ เข้าสู่หลอดเลือดดำในร่างกาย พอร์ตสามารถใช้ในการเจาะเลือดหรือการแทงเข็มเพื่อให้ยาได้ประมาณ 2,000 ครั้งต่อพอร์ต โดยเฉลี่ย และสามารถอยู่กับผู้ป่วยได้หลายปีโดยไม่เกิดอันตราย

ลักษณะของพอร์ต

พอร์ต หรือตลับ ให้สารละลายชนิดฝังใต้ผิวหนังทำจากวัสดุทางการแพทย์ที่เข้ากันได้ดี กับเนื้อเยื่อร่างกาย
พอร์ตจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ตัวพอร์ต (Port) และสายพอร์ต (catheter)

 

ใครบ้างที่ควรได้รับการใส่พอร์ต

ผู้ป่วยที่ควรได้รับการใส่พอร์ต คือ ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาหรือสารอาหารทางหลอดเลือดดำเป็นเวลานานหรือบ่อยๆ ซึ่งมักเป็นผู้ป่วยมะเร็ง

- การให้ยาเคมีบำบัด สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

- การให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

- การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำในระยะยาวแบบไม่ต่อเนื่อง ในผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ

- การให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะที่

- การให้ยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

- การสแกนแบบคอนทราสต์สูง ในผู้ที่ต้องทำการ CT สแกน

 

ทำไมต้องใส่พอร์ต

การใส่พอร์ตจะช่วยลดการแทงเข็มให้ยาซ้ำ ๆ หลายครั้งทางหลอดเลือดดำส่วนปลาย รวมทั้งช่วยให้การให้ยาทำได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับยาเคมีบำบัดเป็นระยะเวลานานผ่านหลอดเลือดดำส่วนปลายที่แขนหรือขาอาจทำให้เกิดเส้นไหม้หลอดเลือดดำอักเสบ (Phlebitis) ยาเคมีบางชนิดยังมีคุณสมบัติทำลายเนื้อเยื่อเมื่อเกิดรั่วซึมออกจากหลอดเลือด การใส่พอร์ตจะช่วยลดความเจ็บปวดและช่วยให้การให้ยาเคมีบำบัดมีความสะดวกปลอดภัยยิ่งขึ้น

 

การใส่ "พอร์ต" Port-A-Cath

การใส่พอร์ตกระทำโดย ศัลยแพทย์ (Surgeon) หรือ แพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional radiologist) เป็นหัตถการเล็กที่ทำโดยการวางยาชาเฉพาะที่หรือยาสลบ (ในบางกรณี)

 

วิธีทำคือการกรีดผิวหนังให้เป็นรอยเพียง 1 -2 รอย จากนั้นแพทย์จะทำการใส่สายหลอด catheter  ลงไปยังหลอดเลือดดำ แล้วตามด้วยตัวพอร์ต จากนั้นเย็บปิดผิวหนัง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แพทย์จะทำการเอ็กซเรย์หลังใส่พอร์ตเพื่อตรวจดูตำแหน่งของสายหลอด catheter อีกครั้งหลังผ่าตัด

ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเล็กน้อยหลังหัตถการ แต่สามารถระงับอาการปวดได้ด้วยยาแก้ปวดธรรมดา

 

ตำแหน่งที่จะใส่ "พอร์ต"

- บริเวณหน้าอกขวามือ (โดยส่วนใหญ่)

- บริเวณขาหนีบ หรือ แขน (สำหรับผู้ป่วยบางรายขึ้นกับความจำเป็น)

สำหรับผู้ป่วยหญิง อาจพิจารณาฝังพอร์ต ในตำแหน่งที่ต่ำลงมาและชิดบริเวณใกล้รักแร้ เพื่อความสวยงาม และสำหรับผู้ที่มีรูปร่างผอมบาง อาจทำให้เห็นแป้นพอร์ตและสายนูนขึ้นมาจากผิวหนังได้

**กรณี ผู้ป่วยที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด จำเป็นต้องแจ้งแพทย์และพยาบาลก่อนการใส่พอร์ต และอาจจำเป็นต้องหยุดรับประทานยาละลายลิ่มเลือดก่อนใส่พอร์ต

 

ข้อดีของการใส่ Port-A-Cath

Port-A-Cath สามารถใช้ในการเจาะเลือดหรือการแทงเข็มเพื่อให้ยาได้ประมาณ 2000 ครั้งต่อพอร์ต โดยเฉลี่ย และสามารถอยู่กับผู้ป่วยได้หลายปีโดยไม่เกิดอันตราย

แพทย์พยาบาลสามารถให้ยาหรือสารอาหารทางหลอดเลือดดำใหญ่ได้ง่าย ผู้ป่วยไม่ทรมานจากการเจาะเส้นเลือดตามแขนบ่อยๆ และมีโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อนต่ำ

นอกจากนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการเจาะเลือดหรือการให้ยาทางพอร์ต จะมีความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานน้อยกว่าวิธีปกติ เนื่องจากบริเวณผิวหนังที่ฝังตัวพอร์ตนั้น มีความหนาของผิวหนังมากกว่า และความรู้สึกเจ็บปวดน้อยกว่าผิวหนังบริเวณแขน

ผู้ป่วยสามารถได้รับยาหรือสารอาหารที่มีความเข้มข้นสูง โดยไม่เกิดอาการอักเสบของหลอดเลือดดำ เพราะพอร์ตจะต่อเข้าหลอดเลือดดำใหญ่ ต่างจากการให้ยาทางหลอดเลือดดำที่แขน ซึ่งเป็นหลอดเลือดดำเล็กกว่า จะเกิดการอักเสบของเส้นเลือดดำได้ง่าย รวมทั้งอาจเกิดเส้นเลือดแตกง่ายกว่า ทำให้ยาแทรกตามเนื้อเยื่อแขนได้ ส่งผลเสียต่อผู้ป่วย

การดูแลตนเองหลังการผ่าตัดใส่พอร์ต

- สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

- เดินได้มากเท่าที่ต้องการ แม้จะขึ้นบันได

- รับประทานอาหารได้ตามปกติ

- ระมัดระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำจนกว่าจะตัดไหม

- สามารถทำงานได้ตามปกติ

- งดกิจกรรมที่ต้องใช้แรงบริเวณแขนและหัวไหล่ เช่น ตีกอล์ฟ ตีเทนนิส ยกของหนัก เพราะอาจทำให้สายพอร์ตเคลื่อนที่จากตำแหน่งเดิม

- ถ้าใส่พอร์ตบริเวณแขน ห้ามเจาะเลือด หรือวัดความดันแขนข้างนั้น

กรณีฉุกเฉินที่ต้องมาโรงพยาบาล

- แผลผ่าตัด บวมแดง ร้อน หรือมีน้ำเหลือง

- มีการเคลื่อนที่ของ port จากตำแหน่งเดิม

- มีไข้

- มีอาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจลำบาก

 

ผู้ป่วยจะเลิกใช้พอร์ตได้หรือไม่ ?

พอร์ตฝังในร่างกายได้หลายปี แพทย์จะพิจารณาเอาพอร์ตออกเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้งานแล้ว หรือมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น สายพอร์ตแตกหัก ติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น เพื่อป้องกันการอุดตันของพอร์ต ผู้ป่วยต้องทำการล้างพอร์ตหลังใช้งานทุกครั้ง กรณีไม่ได้ใช้งานให้ล้างพอร์ตทุก 1 – 3 เดือน โดยพยาบาลหรือแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านการดูแลสายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง



ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3

LINE Official Account :  https://page.line.me/947ptrfh

YouTube : https://youtube.com/channel/UCrWTFEyhNwZtPo2JieYZftw



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.