ผู้ชายควรรู้ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากการเจริญเติบโตและแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ต่อมลูกหมากจนกลายเป็นก้อนมะเร็ง โดยเซลล์มะเร็งเหล่านั้นจะสามารถแพร่กระจายผ่านกระแสเลือด หรือต่อมน้ำเหลืองไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกาย ทำให้อวัยวะเหล่านั้นเสียหายและถูกทำลายในที่สุด
อาการเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ปวดปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในตอนกลางคืน
- ปัสสาวะไม่พุ่ง หรือปัสสาวะไม่หมด
- รู้สึกปวดเวลาปัสสาวะ หรือปวดเวลาที่หลั่งเมื่อถึงจุดสุดยอด
- อวัยวะเพศไม่ค่อยแข็งตัว
- มีเลือดปนในน้ำเชื้อ หรือปัสสาวะ
- มีอาการปวดหลัง หรือปวดสะโพกตลอดเวลา
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
- การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก อาจคลำได้ก้อนที่ผิดปกติของต่อมลูกหมาก และมีความแข็งกว่าปกติ
- การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งในเลือด(PSA) เป็นการตรวจเลือดเพื่อดูค่าสารบ่งชี้มะเร็ง หากมีค่าPSA อยู่ในระดับ 0-4 ng/ml แนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 1 ปี แต่หากมีค่า PSA ที่สูงกว่านั้น ควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดด้วยวิธีการอื่นๆเพิ่มเติม
- การตรวจอัลตราซาวด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก(Trans-rectal Ultrasound of the Prostate : TRUS) เป็นการตรวจที่ใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนักเพื่อตรวจลักษณะของต่อมลูกหมาก และสามารถวัดขนาดของต่อมลูกหมากได้
- การตรวจMRI ต่อมลูกหมาก ซึ่งปัจจุบันนิยมทำกันเนื่องจากมีความแม่นยำค่อนข้างสูง และยังสามารถบอกโอกาสของการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้อีกด้วย
- การตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก(Prostate biopsy) โดยแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันให้ชัดเจนว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ การตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก เป็นการนำเอาเซลล์หรือเนื้อเยื่อไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยพยาธิแพทย์เพื่อดูว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่ และให้คะแนนความรุนแรงของมะเร็งที่เรียกว่าคะแนนเกลียสัน (Gleason score) คะแนนของเกลียสันอยู่ระหว่าง 2-10 จะอธิบายจากลักษณะของเนื้องอกที่กระจาย ถ้าคะแนนของเกลียสันน้อย มะเร็งจะมีความรุนแรงน้อย ถ้ามีคะแนนของเกลียสันมาก จะสัมพันธ์กับความรุนแรงของมะเร็งมาก การตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากทำได้สองเทคนิค คือ การตัดชิ้นเนื้อผ่านทางทวารหนัก (ซึ่งนิยมทำในปัจจุบัน) หรือผ่านทางฝีเย็บ การตัดชิ้นเนื้อผ่านทางทวารหนักทำได้โดยสอดเข็มเล็กผ่านทางทวารหนักเข้าไปในต่อมลูกหมาก ส่วนการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากผ่านฝีเย็บคือการเอาเข็มแทงผ่านผิวหนังระหว่างลูกอัณฑะและทวารหนักเข้าไปในต่อมลูกหมาก เมื่อได้ชิ้นเนื้อแล้ว พยาธิแพทย์จะตรวจดูชิ้นเนื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเซลล์มะเร็ง
ผู้ชายทุกคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) แต่หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรเข้ารับการตรวจครั้งแรกเมื่ออายุ 40 ปี และควรตรวจเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ระยะต่างๆ ของมะเร็งต่อมลูกหมาก
ระยะที่ 1 หรือ 2 (ระยะเริ่มแรก) เซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมากระยะนี้จะจํากัดอยู่เฉพาะที่ต่อมลูกหมากและไม่แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองหรือส่วนอื่นใดของร่างกาย
ระยะที่ 3 (ระยะลุกลาม) ระยะนี้มะเร็งจะเติบโตออกไปนอกต่อมลูกหมากและไปยังเนื้อเยื่อรอบๆ เช่น ถุงพักอสุจิ คอกระเพาะปัสสาวะ หรือต่อมนํ้าเหลืองรอบๆต่อมลูกหมากโดยที่ยังไม่กระจายไปยังอวัยวะอื่นที่ห่างไกลออกไป
ระยะที่ 4 (ระยะกระจาย) เป็นระยะท้ายของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากโดยเซลล์มะเร็งจะมีการแพร่กระจายไป ยังต่อมนํ้าเหลือง กระดูก และอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย
ใครบ้างที่เสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า50 ปีขึ้นไป
- มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ชอบทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์
การตรวจหาระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก
จำเป็นต้องตรวจหาระยะของโรคเพื่อค้นหาว่ามะเร็งได้กระจายออกมาจากต่อมลูกหมากไปที่อื่นหรือไม่ เพื่อช่วยเลือกแนวทางการรักษาที่ดีที่สุด
- การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT scan)
- การตรวจด้วยเครื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI) มักใช้เพื่อตรวจว่ามีมะเร็งระยะลุกลามออกนอกต่อมลูกหมากหรือไม่
- การทำscan กระดูกทั่วร่างกาย(bone scan) เพื่อดูว่ามีการลุกลามไปกระดูกหรือไม่
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง มะเร็งระยะแรกเริ่มสามารถรักษาให้หายขาดจากโรคได้ ในขณะที่มะเร็งระยะลุกลามเฉพาะที่โอกาสรักษาให้หายขาดลดลง ส่วนการรักษามะเร็งระยะแพร่กระจายมีจุดประสงค์หลักคือลดอาการและให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากมีได้หลายวิธี ได้แก่ การเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด การผ่าตัด การฉายรังสีรักษา การรับประทานยายับยั้งฮอร์โมนเพศชาย หรือการได้รับเคมีบำบัด บางคนอาจต้องใช้การรักษาแบบร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพทั่วไป ระยะของโรคมะเร็งว่ามะเร็งอยู่ภายในต่อมลูกหมากหรือกระจายออกมานอกต่อมลูกหมาก ตลอดจนการรักษามะเร็งที่กลับมาเป็นใหม่จะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3
Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3
LINE Official Account : https://page.line.me/947ptrfh
YouTube : https://youtube.com/channel/UCrWTFEyhNwZtPo2JieYZftw