มะเร็งเต้านม รู้เร็ว รักษาเร็ว ควบคุมได้
มะเร็งเต้านม โรคมะเร็งอันดับ 1 ของหญิงไทยและทั่วโลก
พบเพิ่มมากขึ้น 2 หมื่นรายต่อปี แพทย์ชี้เพศชายก็เป็นมะเร็งเต้านมได้
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โรคมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดอันดับ 1 ในผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทยพบได้ประมาณ 35 – 40 ราย ต่อประชากรเพศหญิง 100,000 คน ในทุกปีจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 2 หมื่นรายต่อปี และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้พบผู้ชายก็เป็นโรคมะเร็งเต้านมได้ ประมาณ 1 ราย ต่อประชากรเพศชาย 100 คน
อาการโดยส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ เริ่มแรกมักจะเป็นก้อนที่สามารถคลำได้ ไม่เจ็บ เมื่อไม่รู้สึกเจ็บจึงคิดว่าไม่อันตรายคิดว่าไม่เป็นอะไรจึงไม่มาพบแพทย์ และจะมาพบแพทย์เมื่อเป็นก้อนโตขึ้น อย่างไรก็ดีการตรวจพบมะเร็งในระยะแรกจะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง แม้การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งเต้านมได้ เนื่องจากสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายๆ ปัจจัย การรู้จัก
สังเกตปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้
ปัจจัยเสี่ยงหลัก ได้แก่
- พันธุกรรม และญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม
- ผู้หญิงอายุมาก
- ผู้ไม่มีบุตร
- มีบุตรคนแรกช้า
- มีประวัติของโรคมะเร็งเต้านมข้างหนึ่งมาก่อน
ปัจจัยเสี่ยงรองลงมา ได้แก่
- ผู้มีประจำเดือนเร็ว
- หมดประจำเดือนช้า
- การได้รับฮอร์โมนทดแทน เช่น ทานยาคุมกำเนิด ทานฮอร์โมนเสริมในสตรีวัยทอง
- ภาวะอ้วน
- การดื่มแอลกอฮอล์
- ความเครียด และการไม่ออกกำลังกาย
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ทำได้ 3 วิธี ดังนี้
- การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
- การตรวจเต้านมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรม
- การเอกซเรย์เต้านม (แมมโมแกรม)
แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
- ผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง และตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนทุก 3 ปี
- ผู้หญิงที่มีอายุ 40-69 ปี ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง ตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนทุก 1 ปี และควรได้รับการตรวจด้วยการทําแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี
- กลุ่มเสี่ยง เช่น มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ ควรเริ่มทําการตรวจด้วยแมมโมแกรมตั้งแต่อายุที่ญาติสายตรงเป็นลบออก 10 ปี เช่น หากท่านมีมารดาเป็นมะเร็งเต้านมตอนอายุ 45 ปี ท่านควรตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมเมื่ออายุ 35 ปี เป็นต้น
“การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเรารู้จักการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเรามากที่สุด”
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3
Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3
LINE Official Account : https://page.line.me/947ptrfh
Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCrWTFEyhNwZtPo2JieYZftw