ออฟฟิศซินโดรม (OFFICE SYNDROME) โรคใกล้ตัวในวัยทำงาน
ออฟฟิศซินโดรม (OFFICE SYNDROME) โรคใกล้ตัวในวัยทำงาน
“ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)” เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในกลุ่มของคนที่ทำงานในออฟฟิศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดออฟฟิศซินโดรมสูง “Office Syndrome” กลุ่มอาการที่พบบ่อย เกิดขึ้นกับกลุ่มคนวัยทำงานที่มีลักษณะงานที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน หรืออยู่ในท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องนานๆทั้งในขณะนั่ง ยืน เดิน ทำงาน เช่น การนั่งหรือยืนหลังค่อม ไหล่ห่อ หรือยกไหล่ ก้มคอมากเกินไป ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยหรือชาตามบริเวณต่างๆ และอาจส่งผลให้เกิดอาการของโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อตามมาได้
สาเหตุของ “ออฟฟิศซินโดรม”
เกิดจากการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆเป็นเวลานาน หรืออยู่ในท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องแล้วยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่นได้ เช่น สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์ในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่นโต๊ะหรือเก้าอี้ที่ใช้ทำงานสูงหรือต่ำจนเกินไป ไม่เหมาะกับโครงสร้างของร่างกาย เป็นต้น สภาพร่างกายอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่ออาการเจ็บป่วย เช่น ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนที่ไม่เพียง การได้รับสารอาหารไม่ครบ หรือทานอาหารไม่ตรงเวลา เป็นต้น
อาการของ “ออฟฟิศซินโดรม”
- อาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Mtofascial Pain Syndrome) โดยเฉพาะปวดบริเวณคอบ่า สะบัก ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลทำให้เกิดอาการของระบบประสาทอัตโนมัติร่วมด้วย เช่น วูบ เหงื่อออก ตาพร่า หูอื้อ มึนงง ชา เป็นต้น
- การอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณข้อศอกข้อมือ นิ้วมือ เช่น การอักเสบของเอ็นโค่นนิ้วโป้ง (De Quervain’s Disease) นิ้วล็อค (Trigger Finger)
การกดทับปลายประสาท ทำให้เกิดอาการชา รวมถึงอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ถ้าหากรุนแรง (Nerve Entrapment) เช่น พังผืดทบเส้นประสาทข้อมือ (Carpel Tunnel Syndrome) พังผืดทับเส้นประสาทบริเวณข้อศอก (Cubital Tunnel Syndrome)
วิธีการป้องกันออฟฟิศซินโดรม
ถึงแม้ว่าออฟฟิศซินโดรมจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยกับคนวัยทำงานยุคปัจจุบัน จากลักษณะของงานที่ต้องทำในชีวิตประจำวัน แต่ก็สามารถป้องกันได้เช่นกัน ดังนี้
- ออกกำลังกายหรือยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ เช่น ยืดกล้ามเนื้อระหว่างทำงาน เล่นโยคะ เป็นต้น
- ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม โดยเฉพาะพื้นที่ทำงานของคุณ โดย จอคอมพิวเตอร์แนวตรงกับหน้า และอยู่เหนือกว่าระดับสายตาเล็กน้อย และตั้งห่างเท่ากับความยาวแขน ปรับเก้าอี้ให้เท้าสามารถวางพื้นได้พอดี แป้นพิมพ์ทำมุม 90 องศากับระดับข้อศอก
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน คอยยืดเหยียดกล้ามเนื้อระหว่างทำงาน คอยเปลี่ยนอริยาบถเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายฃ
- หากจำเป็นต้องทำงานที่หน้าจอคอมพิมเตอร์นาน ๆ ควรพักสายตาอย่างน้อยทุก ๆ 10 นาที
- เข้ารับการทำกายภาพบำบัดฝังเข็ม หรือนวด เพื่อลดความเสี่ยง และลดอาการออฟฟิศซินโดรม
บอกลา ออฟฟิศซินโดรม ด้วยการปรับท่านั่ง
- เลือกโต๊ะคอมพิวเตอร์ที่ระดับความสูงพอเหมาะกับความสูงของตัวเอง
- มีลิ้นชักสำหรับวางแป้นพิมพ์ สามารถกดแป้นพิมพ์ได้อย่างถนัด ปรับแป้นพิมพ์ให้อยู่ตรงกลางของผู้ใช้งาน ข้อศอกจะอยู่ในตำแหน่งที่เปิดออกเล็กน้อยประมาณ 100 – 110 องศา
- ความสูงของโต๊ะสัมพันธ์กับความสูงของเก้าอี้ โดยเก้าอี้ควรเลื่อนเข้า – ออกได้สะดวก และสามารถวางขาใต้โต๊ะได้ โดยให้เท้าขนานกับพื้น และระดับเข่าให้เท่าหรือต่ำกว่าระดับสะโพกเล็กน้อย หากเท้าลอยควรหาเก้าอี้เล็กสำหรับวางเท้า
- เลือกเก้าอี้ที่มีที่วางแขนและพนักพิง แต่ไม่ควรเอนหลังได้มากจนเกินไปเพราะจะไม่มีการรองรับหลังเท่าที่ควร และควรมีระดับความสูงที่สามารถรองรับศีรษะได้หรืออยู่ในระดับไหล่ รวมถึงมีส่วนเว้าส่วนโค้งตามสรีระของผู้นั่ง หากนั่งไม่สบายควรหาหมอนรองหลัง เพื่อรองรับความโค้งของกระดูกสันหลังจะช่วยให้นั่งสบายมากยิ่งขึ้น ส่วนที่วางแขนปรับให้พอดีกับโต๊ะทำงานเพื่อให้หัวไหล่ผ่อนคลาย ลดอาการปวดหัวไหล่และต้นคอ
- เบาะรองนั่งอยู่ในระดับที่นั่งแล้วพิงพนักได้พอดี ให้สะโพกชิดกับพนักพิงของเก้าอี้ส่วนหน้าของเบาะควรเลือกแบบทรงโค้งมน สามารถกระจายน้ำหนักตัวได้อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาที่นั่ง
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3
Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3
LINE Official Account : https://page.line.me/947ptrfh
YouTube : https://youtube.com/channel/UCrWTFEyhNwZtPo2JieYZftw