Bangpakok Hospital

6 สาเหตุที่ต้องผ่า/ถอน ฟันคุด

22 ก.ย. 2565



ฟันคุด เป็นฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจจะขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ พบบ่อยที่สุดบริเวณฟันกรามล่างซี่สุดท้าย โดยปกติแล้วฟันซี่นี้ควรจะขึ้นในช่วงอายุ 18 – 25 ปี อาจโผล่ขึ้นอยู่ในลักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอนในแนวระนาบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันข้างเคียงเสมอ นอกจากนี้ฟันซี่อื่น ๆ ก็อาจจะคุดได้ เช่น ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อย แต่ก็พบได้น้อยกว่าฟันกรามล่างซี่สุดท้าย


  1. เพื่อป้องกันอาการปวดจากการที่ฟันกรามซี่ที่ 3 ขึ้นไม่ได้เนื่องจากเบียดฟันซี่ข้างๆ อยู่ หรือติดกระดูกเรมัส ทำให้เกิดแรงดันบริเวณขากรรไกรขึ้น บางรายที่รากฟันคุดยาวไปกดหรือเกี่ยวคลองประสาท และเส้นเลือดที่อยู่ในขากรรไกร ทำให้เกิดอันตรายต่อเส้นประสาท และเส้นเลือดนั้นได้ หากไม่รีบเอาออก หรือทิ้งไว้นาน หรือในฟันคุดบนถ้าทิ้งไว้นานโพรงไซนัสย้อยต่ำลงมา การผ่าฟันคุดออกอาจทำให้เกิดรอยทะลุระหว่างช่องปาก และโพรงไซนัสได้
  2. เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือกนั้นแล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวด และบวมเป็นหนองมีกลิ่นมาก ถ้าทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลามไปใต้คางหรือใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ง่าย นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง บางรายถ้าเหงือกอักเสบมาก และฟันคู่สบงอกยาวลงมากัดโดนเหงือก จะยิ่งทำให้อาการปวดรุนแรงมาก
  3. เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่ 2 ที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่ บางรายที่เป็นมากๆ อาจจะต้องเอาฟันทั้ง 2 ซี่นี้ออกเลยทีเดียว
  4. เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก แรงดันจากฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมาจะทำให้กระดูกรอบรากฟันหรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป ในรายที่ฟันข้างเคียงยังไม่ผุ การผ่าฟันคุดล่าช้าเกินไปจะทำให้กระดูกหุ้มรากฟัน และรากฟันซี่ข้างเคียงถูกทำลายหายไปอาจจะกระทบกระเทือนต่อการมีชีวิตของฟันซี่นั้นไปด้วย
  5. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำ หรือเนื้องอกฟันคุดที่ทิ้งไว้นาน เนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุดอาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำแล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบๆ บริเวณนั้น หากไม่เคยได้รับการตรวจฟันมักจะรู้ตัวอีกทีเมื่อเห็นใบหน้าเอียง หรือขากรรไกรข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้าง ซึ่งถ้าพบ และรีบทำการผ่าตัดออกได้เร็ว ช่วยลดการสูญเสียอวัยวะขากรรไกร ยังสามารถรักษารูปหน้าให้เหมือนเดิมได้ แต่ถ้าถุงน้ำหรือเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากๆ ก็อาจต้องตัดขากรรไกรบางส่วนออกทำให้เสียรูปหน้าบริเวณนั้นได้
  6. เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรจะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อนเมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระแทกกระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย

หากพบฟันคุดควรพบทันตแพทย์เพื่อผ่าออก และป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้นภายหลังได้

ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3

LINE Official Account :  https://page.line.me/947ptrfh

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCrWTFEyhNwZtPo2JieYZftw

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.