Bangpakok Hospital

มือ พาเชื้อโรคอะไรมาได้บ้าง?

3 ต.ค. 2565



เชื้อโรคบนมือ

สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อยู่บนมือของคนโดยทั่วไป แบ่งได้ ๒ ประเภท คือ พวกที่พบได้ในภาวะปกติซึ่งมีอยู่นับสิบชนิด (แม้ว่ามือนั้นจะยังดูสะอาด ไม่เปรอะเปื้อนก็ตาม) กับพวกที่พบได้ชั่วคราว ซึ่งได้รับมาจากการสัมผัส ซึ่งจะติดอยู่ที่ผิวหนังอย่างหลวมๆ และล้างออกได้ง่ายๆ พวกแรกนี้โดยทั่วไปไม่ก่อโรค เว้นเสียแต่มีการเหนี่ยวนำเชื้อโรคเหล่านี้เข้าสู่กระแสเลือดหรืออวัยวะภายใน เช่น ในทางการแพทย์ การใส่สายให้น้ำเกลือเข้าไปในหลอดเลือดโดยตรงอาจมีเชื้อที่ผิวหนังปนเปื้อนเข้าไปและก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดตามมาได้ ส่วนพวกหลังอาจเป็นเชื้อก่อโรคที่ทำให้เกิดโรคติดต่อได้มากมาย บางอย่างรุนแรงถึงชีวิต

โรคติดเชื้อที่ติดต่อผ่านทางมือ

โรคติดเชื้อมากมายสามารถติดต่อผ่านจากการสัมผัส ตัวอย่างโรคที่พบบ่อย มีดังนี้

โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด หัดเยอรมัน นอกจากจะติดต่อผ่านการหายใจเอาเชื้อเข้าไปแล้ว การที่มือไปสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกับบุคคลอื่นหรือเครื่องใช้ในที่สาธารณะ เช่น ลูกบิดประตู ราวโหนรถเมล์ หรือราวบันได แล้วมาแคะจมูก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่โพรงจมูกส่วนหน้า เมื่อหายใจเข้าไปก็ทำให้เกิดโรคได้

โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย โรคตับอักเสบชนิดเอ โรคบิด อหิวาตกโรค โรคพยาธิชนิดต่าง ๆ ซึ่งติดต่อได้จากการที่มือปนเปื้อนเชื้อเหล่านี้ แล้วหยิบจับอาหารกินเข้าไป

โรคติดต่อทางการสัมผัสโดยตรง เช่น โรคตาแดง โรคเชื้อรา แผลอักเสบที่ผิวหนัง หิด เหา โรคเริม เกิดจากการสัมผัสขี้ตาหรือน้ำตาของผู้ป่วยโดยตรง การใช้ของใช้ร่วมกัน หรือแม้กระทั่งการไอ จาม หายใจรดกัน

โรคที่ติดต่อได้หลายทาง เช่น โรคอีสุกอีใส อาจติดต่อได้จากการหายใจและการสัมผัส

โรคติดเชื้อเหล่านี้ เป็นโรคที่พบบ่อย และบางครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้

แนวทางรักษา

วิธีการง่ายๆ ที่ลงทุนน้อยและได้ผลตอบแทนมาก ในการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อที่ผ่านทางมือ ก็คือ "การล้างมือ" จากการวิจัยทางการแพทย์ค้นพบมานานกว่า ๑๕๐ ปีแล้วว่า การล้างมือของแพทย์จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล นอกจากนี้การล้างมือบ่อยๆ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตาแดง ก็เป็นวิธีป้องกันการระบาดของโรคได้ หรือการล้างมือของผู้ประกอบอาหาร ก็ป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินอาหารเช่นกัน แต่ปัญหาก็คือ คนทั่วไปไม่ค่อยได้สนใจและไม่ระวัง เนื่องจากเชื้อก่อโรคดังกล่าวข้างต้นแม้จะมีอันตรายแต่ก็มีขนาดเล็กมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น นอกจากการไม่แคะจมูกและขยี้ตาบ่อยๆ แล้ว การล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

การล้างมือที่ถูกวิธี

การล้างมือที่ถูกต้อง ต้องทำให้มือสะอาดทั้งมือ โดยมีทั้งสิ้น 7 ขั้นตอน คือ

- ฝ่ามือถูกัน

- ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว

- ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว

- หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ

- ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ

- ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ

- ถูรอบขัอมือ

รวมเวลาที่ใช้ล้างมือนี้ประมาณ 15-30 วินาที (อย่างน้อย 10 วินาที) นอกจากนี้ควรล้างมือด้วยน้ำที่กำลังไหล รินจากก๊อกน้ำ และควรใช้ผ้าหรือกระดาษสะอาดเช็ดมือให้แห้ง หรือทำให้แห้งด้วยเครื่องเป่าลมหลังล้างเสร็จ การล้างมือนี้ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค เพียงแค่ใช้สบู่กับน้ำสะอาด ล้างอย่างถูกวิธีก็จะสามารถลดการติดเชื้อได้อย่างดีมากแล้ว

เมื่อไรที่ควรล้างมือ

ควรล้างมือในกรณีต่างๆ ดังนี้

  • ล้างมือ หลังเสร็จกิจกรรมที่ทำให้มือสกปรก เช่น ทำงาน ยกของ พรวนดิน กวาดบ้าน ล้างห้องน้ำ เป็นต้น
  • ล้างมือ เมื่อจะประกอบอาหาร หรือหยิบจับอาหารเข้าปาก
  • ล้างมือ ก่อนล้างหน้า แปรงฟัน หรือหลังเข้าห้องน้ำ
  • ล้างมือ เมื่อจะสัมผัสจมูก ปาก หรือตา
  • ล้างมือ ก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย รวมทั้งในกรณีที่ป่วยเองก็ยิ่งต้องล้างมือให้บ่อยๆ หลังเช็ดน้ำมูก ไอ จาม
  • ล้างมือ ก่อนสัมผัสบุตรหลาน
  • ล้างมือ หลังจากกลับจากที่ทำงานมาถึงบ้าน

การล้างมือควรกระทำบ่อยๆ ให้เป็นนิสัย เนื่องจากการสัมผัสบริเวณตา จมูก ปาก หยิบจับอาหาร สามารถนำเชื้อโรคบนมือเข้าสู่ร่างกายได้ นอกจากนี้การเลี้ยงดูบุตรหลาน โอบกอด ป้อนอาหาร ก็สามารถนำโรคสู่เด็กเหล่านั้นได้ด้วย

ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3

LINE Official Account :  https://page.line.me/947ptrfh

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCrWTFEyhNwZtPo2JieYZftw

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.