Bangpakok Hospital

ทำความรู้จักกับวัคซีน HPV

10 ต.ค. 2565


รู้จักวัคซีน
HPV

วัคซีน HPV หรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือ วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) อันเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส HPV ทำให้เซลล์ปากมดลูกอักเสบเรื้อรังและเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งได้

สายพันธุ์ HPV

ไวรัส HPV ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมีมากกว่า 40 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่พบบ่อยมี 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 โดยวัคซีนที่ป้องกัน 2 สายพันธุ์นี้สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70% มีชื่อว่า Cervarix ส่วนวัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเช่นเดียวกัน และยังป้องกันโรคหูดที่อวัยวะเพศอีก 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์ 6 และ 11 ได้ถึง 95% มีชื่อว่า Gardasil ซึ่งการจะเลือกฉีดวัคซีนชนิดใดนั้น ควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์

ฉีดวัคซีน HPV ช่วงไหนดีที่สุด

  • ประสิทธิภาพวัคซีนสูง หากฉีดในวัยที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
  • ฉีดในวัยที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี จากงานวิจัยพบว่า ร่างกายของเด็กผู้หญิงสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนี้ได้ดีในช่วง 9 – 15 ปี ซึ่งสามารถฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง แต่ได้ประสิทธิภาพเทียบเท่าการฉีด 3 ครั้ง
  • ผู้หญิงอายุ 9 – 26 ปี ควรฉีดวัคซีน HPV โดยเน้นให้ฉีดช่วงอายุ 11 – 12ปี
  • เด็กผู้ชายอายุ 9 – 26 ปี สามารถฉีดวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนัก เน้นให้ฉีดช่วงอายุ 11 – 12 ปี

วัคซีน HPV ฉีดให้ถูกต้อง

การฉีดวัคซีน HPV ต้องฉีดให้ครบถ้วนทั้งหมด 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 : ฉีดในวันที่กำหนดเลือก

ครั้งที่ 2 : ฉีดหลังจากเข็มแรก 1 – 2 เดือน

ครั้งที่ 3 : ฉีดหลังจากเข็มแรก 6 เดือน 

***ในเด็กผู้หญิง หากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี สามารถฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง ห่างกัน 6 – 12 เดือน

อาการข้างเคียงหลังฉีด วัคซีน HPV

  • อาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดยา
  • มีไข้ ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อ่อนเพลีย
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • อาการหน้ามืด เป็นลม เป็นอาการที่พบได้บ่อยในวัยรุ่น

ข้อดีของวัคซีน HPV

ประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไวรัส HPV

ผลข้างเคียงน้อยมาก อาจมีอาการปวด บวม คัน ไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แต่หายได้เอง

สามารถฉีดร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

ป้องกันไวรัส HPV ได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย

ผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ได้

แม้ว่า วัคซีนป้องกัน HPV จะปลอดภัยในคนส่วนใหญ่ แต่ก็มีข้อจำกัดในบางคนเช่นกัน ดังนี้

  • ผู้ที่ภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) ต่อสารประกอบในวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีอาการแพ้ยาง (Latex) หรือยีสต์ (Yeast) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ผู้ที่มีอาการป่วย ติดเชื้อ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าจะหาย
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ แต่ถ้าตั้งครรภ์ในช่วงที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ แนะนำให้ฉีดเข็มที่เหลือจนครบ 3 เข็ม ในช่วงหลังคลอด

ไวรัส HPV ไม่เพียงแต่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ยังรวมไปถึงมะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด และหูดอวัยวะเพศด้วย ดังนั้นการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีน HPV ให้ครบถ้วนตั้งแต่อายุยังน้อยย่อมช่วยให้ห่างไกลโรคได้เป็นอย่างดี

ที่มาข้อมูล : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กัญชาอัดแท่ง

ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3

LINE Official Account :  https://page.line.me/947ptrfh

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCrWTFEyhNwZtPo2JieYZftw

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.