Bangpakok Hospital

ปัจจัยเสี่ยง เกิดโรคหลอดเลือดสมอง

21 พ.ย. 2565


รู้ไว้ รักษาทัน

ลดอันตรายจาก Stroke  หรือโรคหลอดเลือดสมอง

เพราะ  “เวลา” คือเรื่องที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง เพราะถ้าหลอดเลือดแตก ตีบ หรืออุดตัน ไม่สามารถนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงสมองได้ จะส่งผลให้สมองและระบบประสาทเกิดความเสียหาย เสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต หรือเสียชีวิต

สังเกตอาการด้วย BEFAST

  • Balance เดินเซ เวียนศีรษะ บ้านหมุน ฉับพลัน
  • Eyes ตามัว มองเห็นไม่ชัด เห็นภาพซ้อนฉับพลัน
  • Face ใบหน้าและปากเบี้ยวเฉียบพลัน
  • Arms แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก
  • Speech พูดไม่ชัด ติดขัด นึกคำพูดไม่ออก
  • Time รีบไปโรงพยาบาล ต้องรักษาใน 4 ชั่วโมง

โดยอาการของโรคหลอดเลือดสมองจะแสดงออกมาแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่เกิดการผิดปกติ

สัญญาณเตือนดังกล่าว อาจเกิดเพียงอาการเดียวหรือหลายอาการร่วมกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งในสมองที่ได้รับความเสียหาย บางรายอาจมีอาการผิดปกติชั่วขณะหนึ่ง แล้วดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์โดยด่วนภายใน 4 ชั่วโมง  นับจากที่มีอาการผิดปกติครั้งแรก

ปัจจัยเสี่ยงที่จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

ปัจจัยเสี่ยงที่จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

- โรคอ้วน ทานอาหารที่มีไขมันมาก รสเค็ม

- สูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่ต่อเนื่อง

- ดื่มสุราในปริมาณมาก

- ใช้สารเสพติด

  • โรคประจำตัวและความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง

- ภาวะความดันโลหิตสูง

- ไขมันคลอเรสเตอรอลสูง

- เบาหวาน

- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

- โรคหัวใจ เช่น ภาวะะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด atrial fibrillation, ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคลิ้นหัวใจติดเชื้อ (infective endocarditis)

- โรคหลอดเลือดแดงที่คอตีบ (severe carotid or vertebral stenosis)

- ภาวะเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดผิดปกติ (Polycythemia vera or Essential thrombocytosis)

- ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Thrombophilia)

- โรคหลอดเลือดผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรค Moyamoya, Cerebral autosomal dominant and subcortical leukoencephalopathy (CADASIL) มีการเซาะตัวของผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง (carotid or vertebral artery dissection)

ปัจจัยอื่น ๆที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

  • อายุ — ผู้สูงวัยอายุ 55 หรือมากกว่า มีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าในการเกิดโรค มากกว่าคนหนุ่มสาว
  • เชื้อชาติ— กลุ่มคนชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันมีความเสี่ยงสูงกว่าในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าเชื้อชาติอื่น ๆ
  • เพศ — เพศชายมีความเสี่ยงสูงมากกว่าเพศหญิงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง แต่เพศหญิงมักจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองเมื่ออายุมากขึ้น และพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
  • การใช้ฮอร์โมน — การใช้ยาคุมกำเนิดหรือการใช้ฮอร์โมนบำบัด ที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • ภาวะแทรกซ้อน

โรคหลอดเลือดสมองสามารถส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแก่ผู้ป่วย ซึ่งอาจจะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว หรือส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความพิการถาวร ความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สมองขาดเลือด และขึ้นอยู่กับบริเวณสมองที่ได้รับผลกระทบ

  • อัมพาต

ผู้ป่วยอาจจะเกิดอัมพาตส่วนใดส่วนหนึ่งบนร่างกาย หรือไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อบนใบหน้า อาการอาจจะเกิดขึ้นบริเวณด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้าหรือแขน

  • ปัญหาการพูดหรือการกลืน

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองคือผู้ป่วยจะมีปัญหาในการพูด การกลืน หรือการรับประทานอาหาร นอกจากนี้ผู้ป่วยจะพบปัญหาด้านภาษาอย่างเช่นการพูดคุย การพยายามทำความเข้าใจคำพูดของคนอื่น การอ่านและการเขียนหนังสือ

  • สูญเสียความทรงจำ หรือปัญหาเกี่ยวกับสมอง

โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองจะเกิดอาการสูญเสียความทรงจำ ผู้ป่วยบางคนอาจจะพบปัญหาเกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ หรือการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ

  • อารมณ์แปรปรวน

ผู้ป่วยจะพบปัญหาในการบริหารอารมณ์ และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า

  • เจ็บปวดหรือชาบริเวณร่างกาย

ผู้ป่วยจะรู้สึกปวด หรือชาบนร่างกาย โดยเฉพาะส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมอง ยกตัวอย่างเช่นหากโรคส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความรู้สึกในแขนด้านซ้าย ผู้ป่วนจะเริ่มรู้สึกเจ็บแปล๊บแขนด้านดังกล่าว

พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงและเกิดการทอดทิ้งตัวเอง (Self-neglect)

โรคอาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยเริ่มมีการปลีกแยกจากสังคม และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือในการดูแลตัวเองและทำกิจวัตรประจำวัน

การวินิจฉัยโรค

หลังจากที่ผู้ป่วยถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการตรวจผู้ป่วยด้วย CT scan หรือ MRI และแพทย์จะวินิจฉัยแยกโรคที่มีอาการใกล้เคียงอย่างเช่น เนื้องอกในสมอง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงผิดปกติ อื่น ๆ ด้วยวิธีการ

- การตรวจร่างกาย

- การตรวจเลือด

- การตรวจ CT scan

- การตรวจ MRI

- การตรวจหลอดเลือดแดงที่คอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Carotid doppler ultrasound)

- การฉีดสีเข้าหลอดเลือดสมอง (Cerebral angiogram)

วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมองและภาวะเสี่ยง

  • ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน

ในระยะแรกที่เกิดอาการเส้นเลือดในสมองตีบ แพทย์จะทำการประเมินผู้ป่วย หากมีข้อบ่งชี้ของการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดและไม่มีข้อห้าม แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดและตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CTA brain) ในกรณีที่มีหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่อุดตัน แพทย์จะรักษาโดยการใช้สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบและขึ้นไปที่สมอง (endovascular procedure) เพื่อนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดออกมา (Mechanical thrombectomy)

การใช้ยาเพื่อการรักษา

แพทย์จะทำการสั่งยาเหล่านี้ เพื่อช่วยลดโอกาสการกำเริบของโรคหลอดเลือดสมอง

- ยาต้านเกล็ดเลือด (antiplatelet)

- ยาละลายลิ่มเลือด (anticoagulant)

- ยาลดไขมัน (statin)

- ยาลดความดันโลหิต

- ยารักษาโรคเบาหวาน

แนวทางการรักษารูปแบบอื่น ๆ

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดที่คอตีบรุนแรง (severe carotid stenosis) และมีอาการของสมองขาดเลือด แพทย์จะรักษาโดยการทำผ่าตัดหลอดเลือดเพื่อนำเอาส่วนของไขมันที่หลอดเลือดออกมา (carotid endarterectomy) หรือการใส่ขยายหลอดเลือดที่ตีบและใส่ขดลวด (carotid angioplasty and stenting)

  • การรักษาภาวะหลอดเลือดสมองแตก

หากมีอาการภาวะหลอดเลือดสมองแตก มีการพิจารณาการรักษา ดังนี้

การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน

  • การผ่าตัดสมอง

ในกรณีที่เกิดจากหลอดเลือดโป่งพอง พิจารณาการรักษาด้วยการสวนหลอเลือดและใส่ขดลวด (coiling)

โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ (cerebral arteriovenous malformation) พิจารณาการรักษาด้วยการสวนหลอดเลือดและใช่สารอุดหลอดเลือดที่ผิดปกติ (transarterial/venous embolization) หรือ radiosurgery

แนวทางการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ควรป้องกันก่อนการเกิดโรคและควรควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการ ตีบ อุดตัน หรือแตก โดยมีแนวทางการป้องกันโรค ดังนี้

- ปรับระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ

- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง

- เลิกสูบบุหรี่

- ควบคุมอาการของโรคเบาหวาน

- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

- รับประทานผลไม้และผักให้มากยิ่งขึ้น

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

- ลดการดื่มสุรา

- เข้ารับการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

- หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด

ที่มาข้อมูล : สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)

ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3

LINE Official Account :  https://page.line.me/947ptrfh

YouTube : https://youtube.com/channel/UCrWTFEyhNwZtPo2JieYZftw
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.