Bangpakok Hospital

ภาวะตัวเหลืองในทารก

24 ก.พ. 2566


รู้จักกับภาวะตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลือง (Jaundice) เกิดจากการที่ร่างกายมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ในกระแสเลือดมากกว่าปกติ บิลิรูบินเกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงผ่านกระบวนการที่ตับและขับออกจากร่างกายผ่านทางอุจจาระและปัสสาวะ โดยทั่วไปทารกจะมีอาการตัวเหลืองในวันที่ 2 – 3 หลังคลอด ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะมองเห็นว่าเด็กตัวเหลือง และพิจารณาส่งตรวจค่าบิลิรูบินเพื่อดูระดับความเหลืองและให้การรักษาต่อไป

ต้นเหตุของภาวะตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลืองเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่

1) ภาวะตัวเหลืองปกติ (Physiologic Jaundice) เกิดจากทารกที่อยู่ในครรภ์มารดามีความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงมากกว่าและเม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าของผู้ใหญ่ เมื่อเม็ดเลือดแดงของทารกแตกสลายและเปลี่ยนแปลงไปเป็นบิลิรูบินมากกว่าปกติจนเกินความสามารถในการกำจัดของร่างกาย เนื่องจากตับของทารกยังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้การกำจัดบิลิรูบินด้วยตับยังไม่สมบูรณ์ เกิดการสะสมของสารบิลิรูบินขึ้นในร่างกาย หากทารกไม่มีความผิดปกติอื่นร่วมด้วยสามารถหายได้เองภายใน 1 – 2 สัปดาห์

2) ภาวะตัวเหลืองผิดปกติเนื่องจากมีพยาธิสภาพ (Pathologic Jaundice) มีหลายสาเหตุ เช่น

  • ภาวะหมู่เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน พบในคู่ที่แม่มีหมู่เลือดโอกับลูกมีหมู่เลือดเอหรือบี หรือคู่ที่แม่มีหมู่เลือด Rh ลบ และลูกมี Rh บวก
  • ทารกที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอ็มไซม์ G6PD ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ
  • ทารกมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมากกว่าปกติ โดยเฉพาะทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นเบาหวาน
  • ตัวเหลืองที่สัมพันธ์กับการกินนมแม่ พบในทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว มักเกิดกับทารกที่ได้รับนมไม่เพียงพอ สาเหตุที่พบบ่อยคือ ท่าอุ้มให้ลูกดูดนมแม่ไม่ถูกต้อง หรือเกิดจากปัจจัยทางลูก เช่น ลูกเกิดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย หรือมีภาวะลิ้นติด ทำให้ดูดนมแม่ได้ไม่ดี
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น ภาวะตับอักเสบ โรคท่อน้ำดีตีบ ซึ่งทารกจะมีอาการตัวเหลืองร่วมกับอุจจาระสีซีด ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น

การรักษาภาวะตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลืองสามารถรักษาได้โดย

1) การส่องไฟ โดยใช้หลอดไฟชนิดพิเศษให้แสงสีฟ้าที่มีความยาวคลื่นแสงที่เหมาะสมเท่านั้น ขณะส่องไฟ จะต้องถอดเสื้อผ้าทารก ปิดตา และแพทย์จะตรวจเลือดดูระดับบิลิรูบินเป็นระยะจนลดลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ผลเสียของการส่องไฟคือ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ น้ำหนักตัวลดลง เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำเพิ่มขึ้นจากการส่องไฟ

2) การเปลี่ยนถ่ายเลือด คือ การเอาเลือดทารกที่มีบิลิรูบินสูงออกจากตัวเด็กและเติมเลือดอื่นเข้าไปทดแทน จะทำในกรณีที่ระดับบิลิรูบินสูงมากหรือทารกเริ่มมีอาการแสดงทางสมองเพื่อลดระดับบิลิรูบินอย่างรวดเร็ว

3) การรักษาด้วยยา

ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3

LINE O/A : https://page.line.me/947ptrfh

YouTube : https://shorturl.asia/qjUJc

TikTok : https://shorturl.asia/dP5Z0

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.