โรคที่มากับอาการเจ็บแน่นหน้าอก
อาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็นอาการสำคัญที่สามารถนำไปสู่โรครุนแรงได้หลายอย่าง ที่สำคัญคือโรคหัวใจที่ทุกท่านกังวล อาการที่ผู้ป่วยมีคือแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอกคล้ายมีอะไรมากดทับ จุก อึดอัด เหนื่อย หายใจไม่ออก อาจจะร้าวไปใต้คาง หรือไหล่ซ้าย บางรายมีอาการเหงื่อแตก ใจสั่น คล้ายจะเป็นลม บางรายหมดสติ ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ตำแหน่งที่เป็น มักจะแน่นตรงกลางหน้าอก หรือราวนมซ้าย หรือบางคนมาด้วยจุกลิ้นปี่ ระยะเวลาที่เป็น มักเป็นนาทีขึ้นไป
โรคเหล่านี้ก็สามารถมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกได้
- โรคกรดไหลย้อน โดยอาการปวดจะมีตั้งแต่ปวดบีบ ๆ หรือบิดที่หน้าอก ร้อนหน้าอก โดยมักเป็นที่กลางอก และอาจมีร้าวไปที่หลัง คอ กราม หรือแขนได้
- ลิ่มเลือดอุดตันในปอด ผู้ป่วยมักจะหายใจหอบ เหนื่อย ไอ เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก ผู้ป่วยอาจมีอาการแย่ลงในขณะที่หายใจเข้าลึก ๆ เมื่อไอ รับประทานอาหาร ตอนที่โค้งหรืองอตัว อีกทั้งอาการจะแย่ลง เมื่อมีการออกแรง และอาการเจ็บหน้าอกจะไม่หายไป แม้นั่งพักแล้วก็ตาม
- กล้ามเนื้ออักเสบ การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่พบได้บ่อยในการเล่นกีฬา สามารถเกิดได้ทั้งในระหว่างฝึกซ้อม หรือในระหว่างการแข่งขันที่ต้องใช้กล้ามเนื้ออย่างหนัก ซึ่งมีปัญหามาก โดยในนักกีฬาจะมีโอกาสบาดเจ็บซ้ำได้สูง และมีอาการปวดเรื้อรังได้
- โรคหอบหืด ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก โดยมีอาการร่วม คือ หายใจลำบาก หายใจเป็นเสียงหวีด คล้ายหายใจไม่ออก และมีอาการไอ
- โรคกระดูกซี่โครงอักเสบ จะมีอาการเจ็บกลางอกค่อนไปทางซ้ายหรือขวาก็ได้ มักมีอาการเจ็บแบบแปลบๆ เกร็งๆ ฉับพลันที่ผนังหน้าอก บอกตำแหน่งที่เจ็บเป็นจุดๆ ได้ชัดเจน โดยอาการจะสัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทาง บางรายอาจเจ็บมากจนไม่กล้าหายใจเข้าเพราะเมื่อหายใจเข้าแล้วจะเจ็บทุกครั้งตามการขยับของซี่โครง เมื่อพักอยู่นิ่งๆ สักพักแล้วอาการจะค่อยๆ ทุเลาไปเอง
- โรคงูสวัด เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใส โดยจะทำให้มีอาการคันและผิวหนังไหม้ และทำให้รู้สึกเจ็บแปล๊บ ๆ ที่บริเวณหน้าอก ดังนั้นหากคิดว่ามีอาการของโรคงูสวัดก็ควรจะรับการรักษาโดยเร็วที่สุด
สัญญาณเตือนโรคหัวใจมีอะไรบ้าง
- เจ็บหน้าอก ลักษณะของอาการจะรู้สึกแน่น จุก เหมือนมีวัตถุกดทับที่บริเวณหน้าอก บางรายอาจมีอาการร้าวไปยังแขน
- รู้สึกเหนื่อยง่าย หายใจเร็ว จนอาจทำให้พูดไม่ได้ หรือมีเสียงดังเวลาหายใจ
- มีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ โดยอาจเกิดร่วมกับอาการแน่นหน้าอก หน้ามืด หรือเป็นลม
- ขาบวม เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงขาไม่สะดวก
- หน้ามืด เป็นลม โดยในขณะนั้นอาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น
วิธีตรวจว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่
แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วย
แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไปทุกระบบของร่างกาย รวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด ฟังการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิต
ตรวจเอกซเรย์ทรวงอก ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมในการวิ่งสายพาน จะเป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography)
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3
Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3
LINE O/A : https://page.line.me/947ptrfh
YouTube : https://shorturl.asia/qjUJc
TikTok : https://shorturl.asia/dP5Z0