โรคมาลาเรีย ภัยร้าย พรากชีวิต
โรคมาลาเรียหรือไข้ป่า มียุงก้นปล่องตัวเมียที่มีเชื้อพลาสโมเดียมเป็นพาหะนำโรค เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดจะไปฟักตัวที่ตับ ระบาดง่ายเป็นวงกว้าง ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ มักอาศัยอยู่บริเวณชายป่า ชายเขา
มีระยะอาการดังนี้
- ระยะแรก ระยะนี้เป็นระยะการแตกของเม็ดเลือดแดงที่มีเชื้อมาลาเรีย โดยกินเวลา 15-60 นาที ทำให้ร่างกาย หนาวสั่น ตัวเย็น ชีพจรเต้นเร็ว มีอาการเกร็งปัสสาวะบ่อย อุณหภูมิค่อย ๆ สูงขึ้น
- ระยะร้อน ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ตัวร้อนจัด อาจถึง 40 องศา ลมหายใจร้อน หน้าแดง ปากซีด และกระหายน้ำ ชีพจรเต้นเร็ว ปวดศีรษะลึกเข้าไปในกระบอกตา มักเกิดขึ้นใน 1-2 ชั่วโมงหลังจากระยะแรก
- ระยะเหงื่อออก ระยะนี้จะเกิดขึ้นหลังระยะร้อนราว 1-4 ชั่วโมง เป็นระยะที่ไข้เริ่มลดลง มีเหงื่อออกมาก จนดูเหมือนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการก็จะกลับไปเริ่มระยะแรกใหม่อีกครั้งเป็นวงจรไปเรื่อย ๆ โดยผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจติดเชื้อในสมอง ทำให้ซึม ชัก น้ำตาลในเลือดต่ำ ไตวาย น้ำท่วมปอด และมีโอกาสเสียชีวิตสูง
ด้านการรักษานั้น
สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการกินยาตามแพทย์สั่งให้ครบ ทั้งแบบ 3 วัน และ 14 วันตามที่แพทย์เห็นสมควร
หรือบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาฉีดยาต้านมาลาเรียเข้ากระแสเลือดเพื่อทำการรักษาได้เช่นกัน
ส่วนวิธีป้องกันนั้น ปัจจุบันมียาที่ใช้กินล่วงหน้าเพื่อป้องกันก่อนเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มักอาศัยอยู่บริเวณชายป่าชายเขา หรือจังหวัดชายแดนภาคตะวันออกและตะวันตกของประเทศไทย นอกจากนั้นควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ทายากันยุง และนอนในมุ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด อีกด้วย
ที่มาข้อมูล : กรมควบคุมโรค
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3
Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3
LINE O/A : https://page.line.me/947ptrfh
YouTube : https://shorturl.asia/qjUJc
TikTok : https://shorturl.asia/dP5Z0