Bangpakok Hospital

“เห็นหน้าเธอแล้วใจสั่น หรือ หัวใจมีปัญหาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ”

18 เม.ย. 2567



หัวใจเต้นผิดจังหวะ หนึ่งในความผิดปกติของการทำงานของหัวใจที่พบได้บ่อย ๆ และพบได้ทุกเพศทุกวัยไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น ส่วนใหญ่หลายคนยังเข้าใจว่า โรคนี้ไม่อันตราย เพราะบางคนยังใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ โดยไม่รู้ตัวว่า อาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

 

รู้จัก “หัวใจเต้นผิดจังหวะ”

หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ โดยอาจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในหัวใจหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ หลายโรคเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองอุดตัน หรืออัมพฤต อัมพาต และอันตรายที่สุดคือหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

 
สาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • กรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นความผิดปกติของวงจรไฟฟ้าหัวใจตั้งแต่กำเนิด หรือความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด, ลิ้นหัวใจรั่ว, ผนังหัวใจหนาผิดปกติ และหลอดเลือดหัวใจตีบ
  • โรคบางโรคส่งผลต่อความผิดปกติของร่างกายที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่นโรคความดันโลหิตสูง, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคเบาหวาน, ผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ และอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายผิดปกติ
  • ความเครียด และ ความวิตกกังวล
  • ยาและสารบางชนิด เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของแอมเฟตามีน คาเฟอีนที่อยู่ในชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม

 

แบบไหนเรียกว่า อาการโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • หัวใจเต้นช้าผิดปกติ มีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที จะมีอาการมึนงง ใจหวิว วูบ ความดันโลหิตต่ำ หากเป็นหนักอาจจะเป็นลมหมดสติ ในบางรายที่อาการไม่มาก อาจมีเพียงอาการอ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที หากเป็นเล็กน้อยจะมีอาการเหนื่อยง่าย และหัวใจเต้นเร็วเท่านั้น แต่หากเป็นหนักจะมีอาการวูบ หน้ามืด หมดสติ หรืออาจทีการเจ็บหน้าอก ใจสั่นอย่างรุนแรง หรือเหนื่อยง่าย ความดันโลหิตต่ำ อาจทำให้เกิดหัวใจวายหรือถึงขั้นอาจจะทำอาจเสียชีวิตโดยเฉียบพลัน ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

 

ตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยเครื่องมือทางการแพทย์

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ในขณะที่มีอาการ
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST)
  • การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echo)
  • การติดเครื่องบันทึกคลื่นหัวใจไว้ที่ตัวผู้ป่วยเป็นเวลา 24 หรือ 48 ชั่วโมง (Holter monitoring test) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการบ่อยแต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา

 

การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • การใช้ยาควบคุมจังหวะและอัตราเร็วของหัวใจซึ่งถึงแม้จะไม่ช่วยให้หายขาด แต่ก็ลดความถี่และความรุนแรงของการได้ และหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายชนิดก็ตอบสนองดีต่อการใช้ยา
  • การผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (pacemaker) เป็นการฝังเครื่องมือเล็กๆ ไว้ใต้ชั้นไขมัน เหนือชั้นกล้ามเนื้อหน้าอก ต่ำกว่าระดับกระดูกไหปลาร้า และใส่สายไฟฝังที่กล้ามเนื้อของหัวใจห้องบนและห้องล่าง เพื่อตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจ และกระตุ้นให้หัวใจเต้นเมื่อหัวใจเต้นช้ากว่าอัตราเร็วที่กำหนด
  • การผ่าตัดใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (implantable cardioverter defibrillator, ICD) การฝังเครื่องมือซึ่งทำหน้าที่ได้ทั้งกระตุ้นและกระตุกไฟฟ้าหัวใจ ใช้ในกรณีที่มีความเสี่ยงหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติรุนแรง (ventricular fibrillation) ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต เมื่อเครื่องตรวจพบว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง เครื่องจะปล่อยกระแสไฟฟ้าไปยังหัวใจเพื่อยุติหัวใจเต้นผิดจังหวะ และป้องกันการเสียชีวิต อีกทั้งเมื่อหัวใจเต้นช้า เครื่องยังสามารถกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจได้ด้วย
  • การจี้ไฟฟ้าหัวใจโดยใช้สายสวน (radiofrequency ablation) วิธีนี้เป็นการรักษาที่ต้นเหตุซึ่งอาจช่วยให้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจ แพทย์จะใส่สายที่ใช้ตรวจและจี้ไฟฟ้าหัวใจเข้าไปในหัวใจผ่านทางหลอดเลือดดำใหญ่ที่ขาหนีบ และเมื่อพบจุดที่มีความผิดปกติก็จะใช้คลื่นวิทยุจี้เป็นในตำแหน่งนั้น ๆ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (electrical cardioversion) ใช้ในกรณีที่หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต โดยแพทย์จะใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งภายนอกร่างกายซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแปะที่หน้าอกของผู้ป่วยเพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจใหม่ การกระตุกไฟฟ้าหัวใจมักทำในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน แต่ก็เป็นส่วนสำคัญในการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายโรค เช่น หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว หรือ atrial fibrillation เป็นต้น

 

ป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ…เริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพตัวเอง

  • รับประทานอาหารที่มีโปรตีน และโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า รวมไปถึงผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ เพื่อบำรุงหัวใจให้แข็งแรงให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นระบบหมุนเวียนโลหิต ทำให้หัวใจแข็งแรง แต่ไม่ควรหักโหมเกินไป
  • หลีกเลี่ยง “ความเครียด” เพราะเมื่อมีความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนและสารสื่อประสาทประเภทต่าง ๆ ไปกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วและเต้นผิดจังหวะได้
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง การสูบบุหรี่,กัญชา หรือการใช้สารเสพติดต่าง ๆ
  • ถึงแม้จะเป็นผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยังสามารถดื่ม ชา และกาแฟได้ตามปกติ เพราะหากรู้สึกใจเต้นเร็วหลังการดื่มชา กาแฟ มักเป็นจังหวะปกติเพียงแต่เต้นเร็วกว่าปกติเท่านั้น
  • ควรให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.ธารา เรืองวีรยุทธ  อายุรแพทย์โรคหัวใจ เฉพาะทางสรีระไฟฟ้าหัวใจ



ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3
LINE O/A : https://page.line.me/947ptrfh

YouTube : https://shorturl.asia/qjUJc

TikTok : https://shorturl.asia/dP5Z0

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.