Bangpakok Hospital

“โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รู้ทัน ป้องกันได้ด้วยการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร”

18 เม.ย. 2567


มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิต ซึ่งจากข้อมูลสถิติสาธารณสุขปี 2566 พบว่า มะเร็งลำไส้เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสามในเพศชาย และอันดับสองในเพศหญิง รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก โดยมะเร็งสำไส้ใหญ่นั้นเกิดจากความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติในลำไส้ใหญ่ที่มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนจนควบคุมไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงนี้อาจใช้เวลาเป็นปี ในระยะแรกๆ เซลล์อาจเป็นเพียงแค่ติ่งเนื้อธรรมดา แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาหรือตัดทิ้ง ติ่งเนื้อนี้อาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งได้ ผู้ป่วยบางรายมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการในระยะท้าย ๆ ซึ่งทำให้มีโอกาสรอดชีวิตลดลง

 

ปัจจัยเสี่ยง . . ??

  • อายุ 45 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบได้ในวัยหนุ่มสาวและวัยรุ่น
  • มีประวัติมะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ หรือติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ ซึ่งปกติจะพบที่ผนังลำไส้ใหญ่และไม่ใช่เนื้อร้าย แต่หากเวลาผ่านไป ติ่งเนื้อบางชนิดอาจกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 60 ปีมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น
  • การไม่ออกกำลังกายและความอ้วน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น
  • การสูบบุหรี่ จากการศึกษาพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

 

สัญญาณเตือน . . มะเร็งลำไส้ใหญ่

  • มีอาการปวดท้อง, ท้องอืด, แน่นท้อง
  • กลืนอาหารลำบาก กลืนแล้วติด
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
  • อุจจาระลำเล็กลง หรือถ่ายเป็นเม็ดกระสุน
  • ท้องเสียสลับท้องผูก
  • มีเลือดออกหรืออาการปวดท้อง
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ

 

การตรวจประเมินเบื้องต้น เป็นวิธีการที่สามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และสามารถแยกติ่งเนื้อที่กำลังจะกลายเป็นมะเร็งได้ แนะนำให้เริ่มตรวจประเมินเบื้องต้นทั้งผู้ชายและผู้หญิงเมื่ออายุ 45 ปี โดยวิธีการตรวจประเมินเบื้องต้นทำได้ดังนี้

  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นวิธีการตรวจคัดกรองตามมาตรฐานสากล และที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด วิธีนี้จะช่วยให้เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ทั้งหมดและสามารถเก็บชิ้นเนื้อที่เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้
  • การตรวจหาเลือดในอุจจาระ (Fecal immunochemical test: FIT) สามารถตรวจได้ว่ามี เลือดออกในทางเดินอาหารหรือไม่ การตรวจด้วยวิธีนี้เป็นประจำทุกปีจะช่วยลดการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติ แนะนำให้ส่องกล้องลำไส้ใหญ่เป็นต่อไป
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography scan หรือ CT scan) สามารถใช้ในการตรวจสอบตำแหน่งของติ่งเนื้อ ความผิดปกติในช่องท้องอื่นๆ และการกระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ซึ่งในกรณีพบความผิดปกติในลำไส้ แนะนำให้ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ต่อไป

 

ปัจจุบันมีหลากหลายวิธีในการตรวจคัดกรองซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การตรวจพบให้เร็วที่สุด เพราะในความจริงแล้วพบว่า ประมาณ 80% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ใหม่ ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ถึงแม้ว่ามะเร็งจะเป็นโรคที่น่ากลัว แต่หากรู้ก่อน รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็มีโอกาสหายขาดได้เช่นกัน

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.กนกพจน์  จันทร์ภิวัฒน์ อายุรศาสตร์ระบบทางเดินอาหาร

ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลบางปะกอก 3

ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3
LINE O/A : https://page.line.me/947ptrfh

YouTube : https://shorturl.asia/qjUJc

TikTok : https://shorturl.asia/dP5Z0

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.