Bangpakok Hospital

โรคในเด็กที่พบได้บ่อยช่วงเปิดเทอม

10 พ.ค. 2567


เมื่อลูกๆ หรือเด็กๆ ต้องไปโรงเรียนอีกครั้ง หลังจากที่ปิดเทอมมานาน การได้เจอเพื่อนๆ ได้พูดคุยกัน ได้เล่นกัน บางครั้งอาจมีความใกล้ชิดและมีการสัมผัสตัว หรือแตะต้องสิ่งต่างๆ โดยไม่ทันได้ระวังเรื่องของโรคติดต่อ ผู้ปกครองจึงต้องเตรียมรับมือให้ดี โดยการเอาใจใส่ในเรื่องของสุขอนามัย และระแวดระวัง หมั่นสังเกตอาการหรือสุขภาพของลูกหลานอย่างใกล้ชิด


โรคมือ เท้า ปาก

เป็นโรคที่พ่อแม่จะต้องระวังให้มาก สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้านและในโรงเรียน และอาการของโรคมือ เท้า ปากก็คล้ายกับโรคหวัดจนไม่ทันสังเกตถึงความรุนแรง จนบางครั้งกว่าจะรู้และรักษาให้หาย ที่สำคัญอันตรายถึงชีวิต

อาการ : มีตุ่มพอง ผื่นหรือแผลอักเสบบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และภายในปาก มีไข้สูง ไอ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลียในเด็กเล็กจะมีอาการงอแงไม่สบายตัว หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายใด อาการป่วยจะเบาลง และหายไปในระยะเวลาประมาณ 10 วัน หากมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ซึมลง ปวดศีรษะมาก ปวดต้นคอ เพ้อ ควรพบแพทย์ทันที

การป้องกัน : หลีกเลี่ยงการคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหาร ไม่ใช้สิ่งของหรือภาชนะร่วมกับผู้อื่น

ไข้หวัดใหญ่

เป็นโรคที่พบได้ตลอดปีและจะพบบ่อยในฤดูฝน โดยไข้หวัดใหญ่ในเด็กอันตรายมากกว่าไข้หวัดธรรมดา ในแต่ละปีมีเด็กจำนวนมากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ และบางคนมีอาการรุนแรงจนถึงกับเสียชีวิต

อาการ : คล้ายไข้หวัดธรรมดา  มีไข้ ตัวร้อน น้ำมูกไหล แต่มีความรุนแรงและมีโอกาสพัฒนาสู่ภาวะแทรกซ้อนได้ รักษาตามอาการไข้หวัด หรือในบางรายอาจได้รับยาต้านเชื้อไวรัสร่วมด้วย ควรพักฟื้นให้เพียงพอ เพราะร่างกายจะอ่อนเพลียและต้องการพักผ่อนมากกว่าปกติ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้ คือ ภาวะขาดน้ำ การติดเชื้อแบคทีเรียในอวัยวะต่างๆ

การป้องกัน :  ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำทุกปี หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยและเสมหะของผู้ป่วย ล้างมือสม่ำเสมอ และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน

ไข้เลือดออก

โรคนี้มักพบบ่อยในช่วงฤดูฝน ส่วนใหญ่มักพบในเด็กโต วัยรุ่น และผู้ใหญ่ มีสาเหตุมาจากช่วงหน้าฝนมักมีแหล่งน้ำขัง แหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และยุงลายก็เป็นพาหะในการแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออก

อาการของโรค : มักจะมีไข้สูงลอย (39-40 องศาเซลเซียส) 3-7 วัน หน้าแดง มีผื่นแดง ไม่ค่อยไอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีภาวะเลือดออกง่าย หากมีอาการรุนแรงมักจะมีอาการปวดท้อง อาเจียน ไม่กินอาหารร่วมด้วย ถ้าเกิดในเด็กเล็กอาจมีไข้สูงและชักได้

การป้องกันโรค : สามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด ติดมุ้งลวดประตูหน้าต่าง ใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาว และกำจัดแหล่งน้ำขังที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ โดยปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีน

โรค RSV

ป็นอีกหนึ่งโรคในเด็กช่วงเปิดเทอมที่ป่วยกันมาก โดย RSV พบระบาดได้เกือบทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงที่มีอากาศชื้น ซึ่งการติดต่อของโรคสามารถติดต่อผ่านทางน้ำลาย น้ำมูก หรือการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อไวรัส การติดเชื้ออาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรค ที่พบมากคือ หูชั้นกลางอักเสบ ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม

อาการของโรค : มีไข้ ไอรุนแรง หายใจลำบาก หายใจเร็ว มีเสียงวี๊ด เสมหะมาก ซึม กินอาหารได้น้อยลง

การป้องกัน : หมั่นล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือให้คนแปลกหน้าจูบหรือหอมแก้มเด็กเล็ก ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ และดูแลอากาศในบ้านให้ปลอดโปร่ง

การป้องกันโรคนั้น ผู้ปกครองต้องเฝ้าสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติ หรือมีอาการใดที่บ่งชี้ได้ว่าอาจเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัย และรักษาโดยเร็วที่สุด

ที่มาข้อมูล: กรมการแพทย์

ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3

LINE O/A : https://page.line.me/947ptrfh

YouTube : https://shorturl.asia/qjUJc

TikTok : https://shorturl.asia/dP5Z0
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.