อัลตราซาวด์ช่องท้องบอกความผิดปกติ..ของโรคใดได้บ้าง
ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง คืออะไร?
การอัลตราซาวนด์ (Ultrasound หรือ Ultrasound Scanning) คือการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสะท้อนให้เกิดภาพ ซึ่งสามารถตรวจดูอวัยวะต่างๆ ทำให้เห็นถึงความผิดปกติ ซึ่งสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ได้ การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด เพราะเป็นเพียงการใช้หัวตรวจเคลื่อนที่ไปบนผิวหน้าท้อง อีกทั้งคลื่นเสียงที่ใช้ก็มีความปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดอันตราย
ทำไมต้องตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง?
- เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจอวัยวะภายในช่องท้องตามช่วงอายุ หรือตามโปรแกรมในรายการตรวจสุขภาพ เพื่อค้นหาความผิดปกติในขณะที่ยังไม่มีอาการ เช่น นิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี ก้อนเนื้อในตับ
- กรณีที่สงสัยว่าจะมีก้อนในช่องท้อง, ช่วยแยกว่าก้อนนั้นน่าจะมาจากอวัยวะใด และลักษณะของก้อนว่าส่วนประกอบเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำ
- ตรวจเมื่อมีอาการปวด หรือแน่นท้อง เป็เฉียบพลันหรือเรื้อรัง หรือมีการเพิ่มขนาดของอวัยวะในช่องท้อง หรือผลเลือดมีความผิดปกติ
- ตรวจเพื่อนำทางในการตัดเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกในร่างกายไปตรวจ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการทำหัตถการ
- ตรวจซ้ำเพื่อติดตามผล เนื่องจากความผิดปกติบางอย่างที่ได้รับการรักษาไปแล้ว หรือเพื่อเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของความผิดปกตินั้น ๆ
การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Of Upper Abdomen หรือ Upper Abdominal Ultrasonography) เป็นการตรวจดูอวัยวะช่องท้องส่วนบนเหนือระดับสะดือขึ้นไป ได้แก่ ตับ, ม้าม, ถุงน้ำดี, ท่อน้ำดีส่วนต้น, ไต, หลอดเลือดแดงใหญ่ และตับอ่อน (บางรายเห็นได้บางส่วน) ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น มีก้อนเนื้อผิดปกติ นิ่วที่ไต นิ่วที่ถุงน้ำดี เป็นต้น ผู้ที่จะตรวจส่วนใหญ่คือ ผู้ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง หรือมีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ตรวจได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนล่าง (Ultrasound Of Lower Abdomen หรือ Lower Abdominal Ultrasonography) เป็นการตรวจดูอวัยวะของช่องท้องส่วนล่างต่ำกว่าระดับสะดือลงไป ได้แก่ มดลูก, รังไข่ (หญิง), ขนาดของต่อมลูกหมาก (ชาย), กระเพาะปัสสาวะ, ไส้ติ่ง และบริเวณช่องท้องส่วนล่าง อื่นๆ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น ถุงน้ำในรังไข่, ก้อนเนื้อในมดลูก, ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนล่าง มักจะตรวจกันมากในกลุ่มผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มที่มีอาการปวดท้องน้อยปวดเป็นประจำ หรือประจำเดือนผิดปกติ ตรวจโดยการใช้หัวตรวจบริเวณหน้าท้อง การตรวจด้วยวิธีนี้จะต้องตรวจในขณะที่ปวดปัสสาวะมากพอ (ผู้เข้ารับการตรวจจึงควรดื่มน้ำเปล่าและต้องกลั้นปัสสาวะ) เนื่องจากลมในลำไส้จะบดบังมดลูกและรังไข่ในผู้หญิงหรือต่อมลูกหมากในผู้ชาย ทำให้มองเห็นภาพอวัยวะได้ไม่ชัดเจน แต่เมื่อมีน้ำในกระเพาะปัสสาวะมากพอ จะช่วยให้เห็นต่อมลูกหมาก มดลูก รังไข่ หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้
วิธีเตรียมตัว เมื่อต้องตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง
- การตรวจช่องท้องส่วนบน: ควรงดอาหารที่มีไขมัน และเครื่องดื่ม อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
- การตรวจช่องท้องส่วนล่าง: ควรดื่มน้ำเปล่า (อย่างน้อย 500 ) และกลั้นปัสสาวะไว้
ที่มาข้อมูล พญ.อิสรียาธร ศิริวงศ์นภา แพทย์ประจำศูนย์รังสีวิทยาโรงพยาบาลบางปะกอก 3
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3
Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3
LINE O/A : https://page.line.me/947ptrfh
YouTube : https://shorturl.asia/qjUJc
TikTok : https://shorturl.asia/dP5Z0