Bangpakok Hospital

เหล้าเถื่อน อันตราย...ถึงตายได้

28 ส.ค. 2567


เหล้าเถื่อนอันตราย...ถึงตายได้

สุราเถื่อน ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ผลิตต้มและกลั่นเอง โดยไม่มีมาตรฐาน พบบ่อยในยาดองเหล้า สุราปลอม หรือเหล้าเถื่อนที่ต้มกลั่นเอง ซึ่งอาจนำสารแปลกปลอมมาผสมเพื่ออ้างสรรพคุณด้านชูกำลัง หรือเสริมสมรรถนะทางเพศ หากมีการผสมแอลกอฮอล์ชนิดที่เป็นพิษ จะเรียกว่า “เมทิลแอลกอฮอล์” หรือ “เมทานอล” เป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง ไม่มีสี เป็นสารพิษที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ควรนำมาบริโภค

เมทานอล คืออะไร ? ทำไมพบได้ในแอลกอฮอล์ ?

สารเมทานอล (Methanol หรือ Wood alcohol) จะเป็นแอลกอฮอล์ชนิดเชื้อเพลิง เป็นสารพิษที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม ไม่ควรนำมาบริโภค แต่ที่พบเมทานอลอยู่ในเครื่องดื่มเนื่องจาก "เมทานอล" มีราคาถูกกว่า "เอทานอล" หากนำทั้ง 2 สารมาผสมกันจะทำให้ลดต้นทุนในการผลิต จึงมักพบได้ในสุราปลอม ยาดอง เหล้าขาวที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐาน หรือขาดความรู้ความเข้าใจในการผลิตที่ถูกต้อง

ภาวะเป็นพิษจากเมทานอล

ภาวะเป็นพิษจากเมทานอล ส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุราที่มีเมทานอลปนเปื้อน มักจะพบในสุราปลอม เหล้าเถื่อนที่ต้มกลั่นเอง ขนาดที่เริ่มเป็นพิษประมาณ 100 mg/kg ขนาดที่เป็นพิษรุนแรงจนผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตมักมากกว่า 60 ml ของ 40% เมทานอล ถ้าผู้ป่วยได้รับเมทานอลเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ประมาณ 95% จะถูกกำจัดที่ตับ

แต่อาการของการเป็นพิษที่เกิดขึ้นจะเกิดการสะสมของกรดฟอร์มิก (Formic acid) ที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Metabolic acidosis) และเป็นพิษต่อตา (Ocular toxicity) ได้

อาการของ "ภาวะเป็นพิษจากเมทานอล"

หลังได้รับเมทานอล ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงถึง 3 วัน ถ้าผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอลร่วมกับเอธานอล จะทำให้อาการเริ่มแรกช้าลงไปอีก

ผู้ป่วยอาจมีอาการของทางเดินอาหาร เช่น

- คลื่นไส้ อาเจียน

- ปวดท้อง

อาการที่ค่อนข้างจำเพาะได้แก่ พิษทางตา ได้แก่

- ตาพร่า ตามัว

- แพ้แสง เห็นภาพขาวจ้าไปหมด (Snowfield vision)

นอกจากนี้ยังพบอาหารอื่น ๆ ได้แก่

- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ

- อ่อนเพลีย

- สับสน มึนงง

- ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการชัก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ทันที
หรือเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยด่วน! เพื่อป้องกันการเสียชีวิต

ที่มาข้อมูล : กรมการแพทย์,กรมควบคุมโรค

ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3

LINE O/A : https://page.line.me/947ptrfh

YouTube : https://shorturl.asia/qjUJc

TikTok : https://shorturl.asia/dP5Z0

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.