โรคและภัยสุขภาพในฤดูหนาว 2567
ฤดูหนาวของประเทศไทยปี 2567 นี้ กรมอุตุวิทยา คาดการณ์ว่าหนาวเย็นกว่าปีที่แล้ว ในบางพื้นที่จะมีอุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอุณหภูมิต่ำสุด 6 องศา ส่วน กทม. เย็นสุด 16 องศา ดังนั้นในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศที่หนาวเย็นอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย จึงขอให้หมั่นดูแลร่างกายให้อบอุ่นและแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสที่จะเจ็บป่วยจากโรคและภัยสุขภาพ โดยแบ่งเป็นโรคและภัยสุขภาพที่ควรเฝ้าระวังออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ โรคโควิด19 ภูมิแพ้อากาศ)
- โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วง)
- โรคติดต่อนำโดยแมลง (ไข้รากสาดใหญ่)
กลุ่มที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อจากการไอ จามรดกัน หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อร่วมกัน หากได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการไข้ ไอแห้งๆ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เยี่อบุโพรงจมูกอักเสบและเจ็บคอ โรคปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราบางชนิดที่ถุงลมปอดจากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อ จะมีอาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย อาการดังกล่าวมักเป็นเฉียบพลัน และพบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่จะมีอาการรุนแรงในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีโรคประจำตัว
โดยทั้งสองโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถป้องกันโรคโควิด 19 ได้อีกด้วย
กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อโรคจะมีอาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย ดื่มน้ำสะอาดและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด
กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อนำโดยแมลง โรคไข้รากสาดใหญ่ หรือ โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) มีตัวหมัด ไร เห็บ และเหาเป็นพาหะนำโรค เมื่อถูกกัดจะได้รับเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้รากสาดใหญ่ หากมีการเกาบริเวณที่ถูกกัดจะทำให้ผิวหนังเปิด จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้นและเชื้อแบคทีเรียจะแพร่พันธุ์และเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ที่มาข้อมูล : กรมควบคุมโรค
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3
Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3
LINE O/A : https://page.line.me/947ptrfh
YouTube : https://shorturl.asia/qjUJc
TikTok : https://shorturl.asia/dP5Z0