โรคไตรักษาได้ด้วยสิทธิประกันสังคม
โรคไตรักษาได้ด้วยสิทธิประกันสังคม
ไต เป็นหนึ่งอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ช่วยกรองของเสีย ถ้าหากป่วยเป็น "โรคไต" ขึ้นมา ย่อมส่งผลอย่างมากต่อสุขภาพ และโรคไตยังเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องดูแลรักษายาวนานตลอดชีวิต ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ประกันตน ประกันสังคมจะได้รับความคุ้มครองกรณีป่วยเป็นโรคไต ส่วนจะมีเงื่อนไขอะไรบ้างนั้น มาเช็กข้อมูลกัน
รักษาโรคไต ประกันสังคม ใครมีสิทธิ์บ้าง ?
ผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ กรณีป่วยเป็นโรคไต จะต้องเข้าเงื่อนไขดังนี้
- เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่เข้ารับการรักษา
- ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่เข้ารับการรักษา
- กรณีส่งเงินสมทบเข้ากองทุนครบ 3 เดือนแล้ว แต่ลาออกจากประกันสังคม จะยังขอรับสิทธิ์รักษาได้ภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
ผู้ป่วยโรคไต ประกันสังคมช่วยอะไรบ้าง ?
- โรคไตวาย (ที่ไม่ใช่ระยะสุดท้าย)
ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามคำสั่งของแพทย์ ณ โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ์ แต่มีเงื่อนไขคือ จะไม่ได้รับสิทธิ์บำบัดทดแทนไต เช่น การฟอกไต ปลูกถ่ายไต การล้างช่องท้อง เป็นต้น
- โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
สามารถขอใช้สิทธิ์เข้ารับการบำบัดทดแทนไต ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างเกือบปกติได้ โดยสิทธิประโยชน์ ประกอบด้วย
- การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ไม่เกิน 1,500 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 4,500 บาทต่อสัปดาห์ (เดือนละ 18,000 บาท)
- จ่ายค่าเตรียมเส้นเลือดสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมพร้อมอุปกรณ์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 20,000 บาทในระยะเวลา 2 ปี หากใน 2 ปีนี้ จำเป็นต้องเตรียมเส้นเลือดหรือแก้ไขเส้นเลือด จ่ายเพิ่มให้อีกไม่เกิน 10,000 บาท
- การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างถาวร ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน
- จ่ายค่าวางท่อรับส่งน้ำยาเข้าออกทางช่องท้องพร้อมอุปกรณ์ ไม่เกิน 20,000 บาทในระยะเวลา 2 ปี หากใน 2 ปีนี้จำเป็นต้องวางท่อรับส่งน้ำยาทางช่องท้อง จ่ายเพิ่มให้อีกไม่เกิน 10,000 บาท
- การปลูกถ่ายไต ได้รับสิทธิ์บริการทางการแพทย์ ก่อน ระหว่าง หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต และรับยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต
สำหรับผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพและเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป ผู้ทุพพลภาพจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ดังนี้
- การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เท่าที่จ่ายจริงตามความเป็นจำเป็น กรณีรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ
- การเตรียมหลอดเลือดหรือสายสวนหลอดเลือดสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการให้อิริโธรปัวอิติน เท่าที่จ่ายจริงตามความเป็นจำเป็น กรณีรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ
กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลที่ให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด จะได้รับค่าบริการทางการแพทย์ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดไว้ท้ายประกาศ
บำบัดทดแทนไต ประกันสังคม มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ?
ผู้ที่จะได้รับสิทธิ์บำบัดทดแทนไต ต้องเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด โดยมีผลการพิสูจน์ Serum Bun, Serum Creatinine หรืออัตราการกรองของเสียของไต และขนาดของไต
ส่วนกรณีผู้ประกันตนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและได้รับสิทธิ์บำบัดทดแทนไตมาแล้วจากที่อื่น เช่น สิทธิข้าราชการ หรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ยังสามารถรับการบำบัดทดแทนไตจากสำนักงานประกันสังคมได้ต่อเนื่อง
วิธีขอรับสิทธิ์รักษาโรคไต ประกันสังคม
หากผู้ประกันตนต้องการรับบำบัดทดแทนไต จะต้องทำการยื่นขอรับการอนุมัติก่อน ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา โดยเตรียมเอกสารประกอบ ได้แก่
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีบำบัดทดแทนไตและปลูกถ่ายอวัยวะ หรือการดูแลหลังผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะและรับยากดภูมิคุ้มกันกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-18)
- สำเนาเวชระเบียนในส่วนที่เกี่ยวข้อง
- ผลการตรวจไตตามหลักเกณฑ์
- หนังสือรับรองจากอายุรแพทย์โรคไต
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- รูปถ่ายขนาด 1 หรือ 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนได้รับสิทธิ์บำบัดทดแทนไตเรียบร้อยแล้ว เมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลจะไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน แต่ถ้ามีค่าใช้จ่ายส่วนเกิน ทางผู้ประกันตนจะต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง
สำหรับใครมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์รักษาโรคไต ประกันสังคม สามารถสอบถามโดยตรงได้ที่ สำนักงานประกันสังคม หรือ สายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้วยความห่วงใยและใส่ใจจากโรงพยาบาลบางปะกอก 3
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานประกันสังคม
*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 19 กันยายน 2562