ดูแลผู้ป่วยไม่ให้เป็นแผลกดทับได้ง่าย ๆ ด้วยนาฬิกาพลิกตัวผู้ป่วย
ดูแลผู้ป่วยไม่ให้เป็นแผลกดทับได้ง่าย ๆ ด้วยนาฬิกาพลิกตัวผู้ป่วย
แผลกดทับ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว และการเกิดแผลกดทับนั้น เสี่ยงต่อการติดเชื้อและอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ การพลิกตัวผู้ป่วยอย่างช้าที่สุด ทุก ๆ 2 ชั่วโมง จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ในวันนี้ . . เราจึงมี “นาฬิกาพลิกตัวผู้ป่วย” อีกหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยนอนติดเตียงมีสุขอนามัยที่ดี ปลอดภัยจากการเกิดแผลกดทับ มาฝากกันค่ะ
เริ่มต้นด้วย . .
6 โมงเช้า >>>>> ตะแคงซ้าย
8 โมงเช้า >>>>> นอนหงาย
10 โมงเช้า >>>>> ตะแคงขวา
เที่ยงวัน >>>>> ตะแคงซ้าย
บ่าย 2 >>>>> นอนหงาย
4 โมงเย็น >>>>>> ตะแคงขวา
6 โมงเย็น >>>>> ตะแคงซ้าย
สำหรับเวลานอนกลางคืนให้ใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อช่วย คือ ที่นอนลมหรือแผ่นเจลรอง ลดการกดทับปุ่มกระดูก ซึ่งสามารถช่วยได้มาก การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย
หากผู้ป่วยนอนหงายนานเกินกว่า 2 ชั่วโมง อาจจะเกิดแผลกดทับที่ก้นกบง่ายขึ้น เพราะเป็นส่วนที่รับน้ำหนักทั้งหมดตามแรงโน้มถ่วงของโลก อีกบริเวณ คือ ส้นเท้าที่จะเกิดได้ง่าย เราต้องใช้หมอนนุ่มรองเท้าทั้งสองข้างเพราะสามารถลดแรงกดบริเวณส้นเท้า และควรใช้หมอนข้างหนุนช่วงใต้เข่าไว้เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเกร็งที่หลัง เพื่อให้กล้ามเนื้อหลังหย่อนตัวลงและช่วยยกส้นเท้าให้สูงลอยจากพื้น ซึ่งเป็นการจัดท่านอนสำหรับผู้ป่วยที่นอนในท่านอนหงาย
และเมื่อถึงเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงจึงควรเปลี่ยนท่านอนให้ผู้ป่วย แต่การพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยต้องดูลักษณะของเตียงด้วย ถ้าเป็นเตียงแข็งมาก ต้องพลิกตัวบ่อย หรือถ้าน้ำหนักตัวของผู้สูงอายุมากก็ต้องพลิกก่อน 2 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเตียงนุ่มหรือใช้อุปกรณ์เสริมอื่นๆช่วยเราอาจจะพลิกตัวผู้ป่วยช้ากว่า 2 ชั่วโมงได้
ที่สำคัญต้องสำรวจปุ่มกระดูกต่างๆ ที่สามารถเกิดแผลกดทับให้ทั่วและดูบริเวณต่าง ๆ ว่ามีรอยแดง รอยถลอกหรือไม่ในทุกครั้งที่มีการพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยด้วย เพราะแผลกดทับเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากสังเกตว่าปรากฏสัญญาณของแผลกดทับ ควรขยับร่างกายปรับเปลี่ยนท่าทาง เพื่อบรรเทาแรงกดทับตรงบริเวณดังกล่าว และควรพบแพทย์ทันทีในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 - 48 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่ปรากฏอาการติดเชื้อ เช่น ไข้ขึ้น มีของเหลวซึมมาจากแผล มีกลิ่นผิดปกติที่แผล หรือรอยแดงมากขึ้น อาการอุ่น ๆ และอาการบวมของแผลเพิ่มขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
อาการของแผลกดทับ
อวัยวะที่เสี่ยงเกิดแผลกดทับได้มากนั้นมักเป็นบริเวณที่ไม่มีไขมันปกคลุมผิวหนังมากและต้องรับแรงกดทับโดยตรง ผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้และต้องนอนบนเตียงตลอดเวลาเสี่ยงเกิดแผลกดทับที่ไหล่ ข้อศอก ท้ายทอย ข้างใบหู เข่า ข้อเท้า ส้นเท้า เท้า กระดูกสันหลัง หรือกระดูกก้นกบ ส่วนผู้ที่ต้องนั่งรถเข็นเป็นเวลานานเสี่ยงเกิดแผลกดทับที่ก้น หลังแขน หลังต้นขา หรือด้านหลังของกระดูกสะโพก โดยผู้ป่วยจะเกิดอาการหลายอย่าง ได้แก่ สีหรือลักษณะผิวหนังเกิดความผิดปกติ มีอาการบวม มีหนองออกมา เกิดอาการอุ่นหรือเย็นตรงผิวหนังที่เกิดแผลกดทับ และมักกดแล้วเจ็บบริเวณที่เป็นแผลกดทับ ทั้งนี้ อาการของแผลกดทับจะรุนแรงขึ้นตามระยะต่าง ๆ ดังนี้
- ระยะที่ 1 แผลกดทับระยะนี้จะไม่เปิดออก มีลักษณะอุ่น นุ่มหรือแข็ง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บและระคายเคือง ผิวหนังบริเวณแผลจะไม่มีสี ผู้ที่มีผิวขาวอาจเกิดรอยแดง ส่วนผู้ที่มีผิวเข้มอาจเกิดสีเขียวอมม่วง เมื่อกดลงไปบนแผล แผลจะไม่กลายเป็นสีขาว
- ระยะที่ 2 แผลกดทับระยะนี้เป็นแผลเปิดหรือมีแผลตุ่มน้ำพอง เนื่องจากหนังกำพร้าบางส่วนและหนังแท้ถูกทำลาย ส่งผลให้ผิวหนังหลุดลอก ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บที่แผลมากขึ้น
- ระยะที่ 3 แผลจะมีลักษณะเป็นโพรงลึก ซึ่งอาจเห็นไขมันที่แผล เนื่องจากผิวหนังทั้งหมดหลุดออกไป รวมทั้งเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไปในชั้นผิวหนังถูกทำลาย
- ระยะที่ 4 แผลกดทับระยะนี้ถือว่าร้ายแรงที่สุด โดยผิวหนังทั้งหมดถูกทำลายอย่างรุนแรง รวมทั้งเนื้อเยื่อที่อยู่ล้อมรอบเริ่มตายหรือที่เรียกว่าเนื้อเยื่อตายเฉพาะส่วน (Tissue Necrosis) กล้ามเนื้อและกระดูกที่อยู่ลึกลงไปอาจถูกทำลายด้วย
การวินิจฉัยแผลกดทับ
เบื้องต้นแพทย์จะตรวจดูว่าผู้ป่วยเสี่ยงเกิดแผลกดทับหรือไม่ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าว แพทย์จะพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย ได้แก่ สุขภาพโดยรวม สมรรถภาพการเคลื่อนไหวร่างกาย ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการจัดท่าทาง อาการบ่งชี้การติดเชื้อ ภาวะสุขภาพจิต ประวัติการเกิดแผลกดทับ ปัญหาเกี่ยวกับการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระ โภชนาการ และระบบไหลเวียนโลหิต ทั้งนี้ แพทย์จะขอตรวจเลือดเพื่อประเมินสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และดูว่าได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายหรือไม่ รวมทั้งขอตรวจปัสสาวะสำหรับดูการทำงานของไตและการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
นอกจากนี้ การวินิจฉัยแผลกดทับสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยสังเกตอวัยวะต่าง ๆ ว่าผิวหนังมีสีผิวซีดลง แข็ง และนุ่มกว่าปกติหรือไม่ หากพบว่าเกิดอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไปทันที
การรักษาแผลกดทับ
การรักษาแผลกดทับคือการช่วยให้ผู้ป่วยเกิดแรงกดทับที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งน้อยลง ดูแลรักษาแผล บรรเทาอาการเจ็บแผล ป้องกันการติดเชื้อ และช่วยให้ผู้ป่วยมีโภชนาการที่ดี ทั้งนี้ แผลกดทับจัดเป็นปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน จำเป็นต้องมีกลุ่มรักษาที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน ได้แก่ แพทย์ผู้ดูแลแผนการรักษา แพทย์ผิวหนัง ศัลยแพทย์ด้านประสาท กระดูก และศัลยกรรมตกแต่ง พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และนักโภชนาการ
วิธีรักษาแผลกดทับมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะของอาการที่เป็น โดยผู้ป่วยที่มีแผลกดทับระยะที่ 1 และระยะที่ 2 สามารถหายได้หากได้รับการดูแลอย่างใส่ใจ ส่วนผู้ป่วยระยะที่ 3 และระยะที่ 4 อาจใช้เวลารักษานานกว่า วิธีรักษาแผลกดทับแบ่งตามการรักษาอาการของโรค ได้แก่ การลดแรงกดทับ การดูแลแผล การรักษาเนื้อเยื่อตาย และการรักษาอื่น ๆ ดังนี้
- การลดแรงกดทับ วิธีรักษาแผลกดทับขั้นแรกคือลดการกดทับอวัยวะที่เกิดภาวะดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดแรงกดทับมากขึ้นและลดการเสียดสีของผิวหนัง ซึ่งทำได้ ดังนี้
- ควรปรับเปลี่ยนหรือขยับร่างกายบ่อย ๆ ผู้ที่นั่งรถเข็นควรขยับร่างกายทุก 15 นาที หรือเปลี่ยนท่านั่งทุกชั่วโมง ส่วนผู้ที่นอนบนเตียงควรเปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง
- ใช้ที่นอนหรือเบาะรองนั่งที่ช่วยหนุนร่างกายให้นั่งหรือนอน โดยไม่ทำให้ผิวหนังดึงรั้งกัน อันก่อให้เกิดแผลกดทับ
- การดูแลแผล การดูแลแผลกดทับขึ้นอยู่กับว่าแผลลึกมากน้อยแค่ไหน โดยทั่วไปแล้ว แผลกดทับสามารถดูแลรักษาได้ ดังนี้
- หากผิวหนังที่เกิดแผลกดทับไม่เปิดออก หรือเป็นแผลปิด ให้ล้างแผลด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอ่อน ๆ และเช็ดให้แห้ง ส่วนผู้ที่แผลเปิดออกให้ล้างด้วยน้ำเกลือสำหรับล้างแผลทุกครั้งเมื่อต้องทำแผล
- พันแผลเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น เนื่องจากช่วยให้แผลชุ่มชื้นอยู่เสมอ อีกทั้งยังลดการเสียดสีที่ผิวหนัง
- การรักษาเนื้อเยื่อตาย แผลกดทับจะรักษาให้หายได้นั้นต้องไม่เกิดการติดเชื้อหรือเนื้อเยื่อตาย ผู้ป่วยที่มีเนื้อเยื่อตายจะได้รับการรักษา ดังนี้
- การผ่าตัดเนื้อตาย แพทย์จะทำความสะอาดแผลและตัดเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายออกไป
- ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยอาจได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อและป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลาม
- ครีมหรือขี้ผึ้งสำหรับทารักษา ช่วยให้แผลหายไวขึ้นและป้องกันเนื้อเยื่ออื่นถูกทำลาย
- การดูแลอื่น ๆ ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการดูแลรักษาจากผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด โภชนากร และศัลยแพทย์ตกแต่ง
ผู้ป่วยแผลกดทับอาจได้รับการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ยาแก้ปวดเฉพาะที่ ผู้ป่วยอาจได้รับยาแก้ปวดเฉพาะที่หรือยาบรรเทาอาการปวดที่ไม่ผสมสารสเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน หรือนาพรอกเซน
- อาหารเสริม แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเสริมอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โปรตีน สังกะสี และวิตามิน เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น หากร่างกายขาดวิตามินหรือแร่ธาตุดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดแผลกดทับที่ผิวหนังได้ง่าย
- การผ่าตัด ผู้ป่วยแผลกดทับที่รักษาแผลให้หายไม่ได้ จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยนำส่วนของกล้ามเนื้อ ผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อในร่างกายตนเองมาปิดแผลและใส่รองกระดูกที่ได้รับผลกระทบจากแผลกดทับ
ภาวะแทรกซ้อนจากแผลกดทับ
ผู้ป่วยที่เกิดแผลกดทับอาจประสบภาวะแทรกซ้อนได้ โดยจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากระยะ 3 ไปสู่ระยะ 4 ซึ่งอันตรายถึงชีวิต ผู้ป่วยมักประสบภาวะแทรกซ้อนจากแผลกดทับรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อที่กระดูกและข้อต่อ เนื้อเน่า หนังเน่า และมะเร็งบางชนิด ดังนี้
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) ผิวหนังและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวอุ่น มีรอยแดง และบวม ผู้ป่วยที่เส้นประสาทถูกทำลายจะไม่รู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่เซลล์เนื้อเยื่อเกิดการอักเสบ ผู้ที่ไม่เข้ารับการรักษาเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดหรือติดเชื้อที่กระดูกและข้อต่อได้ ทั้งนี้ ผู้ที่เกิดแผลกดทับบริเวณหลังส่วนล่าง กระดูกก้นกบ และกระดูกสันหลัง หากเนื้อเยื่อติดเชื้อมากขึ้น อาจประสบภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอที่มีแผลกดทับติดเชื้อ เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดได้สูง ภาวะนี้จะทำลายอวัยวะต่าง ๆ ส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำลงมากจนถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต โดยผู้ป่วยจะตัวเย็นและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน เพื่อให้ร่างกายกลับมาทำงานปกติ รวมทั้งรับยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัสเพื่อรักษาอาการติดเชื้อ
- ติดเชื้อที่กระดูกและข้อต่อ แผลกดทับที่ติดเชื้ออาจลุกลามลงไปที่ข้อต่อหรือกระดูก เรียกว่าภาวะข้ออักเสบติดเชื้อและภาวะกระดูกอักเสบ โดยภาวะข้ออักเสบติดเชื้อจะทำลายกระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อ ส่วนภาวะกระดูกอักเสบจะทำให้การทำงานของข้อต่อและแขนขาลดน้อยลง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรือเข้ารับการผ่าตัดนำกระดูกหรือข้อต่อที่ติดเชื้อออกไปในกรณีที่เกิดการติดเชื้อรุนแรง
- เนื้อเน่า (Necrotising Fasciitis) โรคนี้เรียกอีกอย่างว่าโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน จัดเป็นภาวะติดเชื้อผิวหนังที่รุนแรง ติดเชื้อลึกถึงระดับเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ทำให้เนื้อเยื่อตายอย่างรวดเร็ว โดยภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อแผลกดทับเกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชื้อสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A Streptococci) ผู้ป่วยที่เกิดเนื้อเน่าจำเป็นต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน โดยรับยาปฏิชีวนะควบคู่กับการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อที่ตายออกไป
- เนื้อเน่าแบบมีก๊าซ (Gas Gangrene) โรคนี้คือการติดเชื้อรุนแรงที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยจะเกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียคลอสตริเดียม (Clostridium) ซึ่งอยู่ในที่ที่มีออกซิเจนน้อยมาก แบคทีเรียชนิดนี้จะผลิตก๊าซและปล่อยสารพิษออกมา ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการบวมและเจ็บแผลอย่างรุนแรง ผู้ที่เกิดหนังเน่าจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดนำหนังส่วนที่เน่าออกไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เกิดอาการรุนแรงมากจำเป็นต้องตัดอวัยวะส่วนที่เกิดภาวะดังกล่าว เพื่อป้องกันการลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น
- มะเร็งบางอย่าง ผู้ป่วยแผลกดทับที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาเป็นเวลานาน อาจเกิดมะเร็งผิวหนังได้
การป้องกันแผลกดทับ
ผู้ที่เสี่ยงเกิดแผลกดทับสามารถป้องกันภาวะดังกล่าวได้ โดยดูแลตนเองด้านต่าง ๆ ได้แก่ การจัดท่าทาง โภชนาการ ความสะอาดผิวหนัง และพฤติกรรมอื่น ๆ ดังนี้
- การจัดท่าทาง การปรับเปลี่ยนท่าทางของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับได้ดี เนื่องจากวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเลี่ยงออกแรงกดทับจากการนอนหรือนั่งไปที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นเวลานาน ซึ่งการจัดท่าทางสำหรับเลี่ยงการเกิดแรงกดทับทำได้ ดังนี้
- ควรปรับเปลี่ยนท่าทางขณะนั่งบนรถเข็นทุก ๆ 15 นาที และพลิกตัวเปลี่ยนท่านอนอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อถ่ายน้ำหนักตัวไม่ให้กดทับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นเวลานาน
- ผู้ป่วยที่ต้องนั่งรถเข็นอาจใช้แขนดันร่างกายส่วนบนให้ยกขึ้นเป็นบางครั้ง
- ควรเลือกรถเข็นที่ปรับระดับได้ เพื่อช่วยผ่อนแรงกดทับ
- ควรเลือกเบาะรองนั่งหรือเตียงนอนที่ช่วยผ่อนแรงกดและปรับท่าทางให้นั่งหรือนอนได้สบาย
- ปรับเตียงให้สูงขึ้นไม่เกิน 30 องศา เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังบริเวณก้นกบดึงรั้งกันจนเกิดแผลกดทับ
- โภชนาการ การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารจำพวกโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่อย่างหลากหลายจะช่วยป้องกันผิวหนังถูกทำลายและช่วยให้อาการป่วยหายเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยแผลกดทับที่รู้สึกอยากอาหารน้อยลงอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นนั้น สามารถปรับพฤติกรรมการกินเพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน ดังนี้
- แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อย รวมทั้งรับประทานอาหารให้เป็นเวลา ซึ่งจะช่วยให้ได้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย
- เลี่ยงดื่มเครื่องดื่มหรือน้ำเปล่าในปริมาณมากก่อนรับประทานอาหาร เนื่องจากจะทำให้รู้สึกอิ่มเกินไป
- ดื่มเครื่องดื่มที่อุดมไปสารอาหารหรือรับประทานอาหารอ่อน ๆ ในกรณีที่กลืนอาหารลำบาก
- ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ ควรรับประทานอาหารโปรตีนสูงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ เช่น ชีส โยเกิร์ต เนยถั่ว หรือถั่วต่าง ๆ
- ความสะอาดผิวหนัง ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือป่วยเป็นโรคที่เสี่ยงเกิดแผลกดทับ ควรหมั่นตรวจผิวหนังของตนเองว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติใด ๆ หรือไม่ รวมทั้งดูแลรักษาผิวหนังตนเอง ดังนี้
- ควรล้างทำความสะอาดผิวหนังและเช็ดให้แห้งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังอับชื้น
- ควรดูแลผิวสม่ำเสมอ เช่น ทาโลชั่นสำหรับผิวแห้ง เปลี่ยนเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอนอย่างสม่ำเสมอ ตรวจดูกระดุมเสื้อหรือตะเข็บของผ้าปูที่นอนให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เสียดสีผิวหนัง
- พฤติกรรมอื่น ๆ ผู้ที่สูบบุหรี่ควรเลิกพฤติกรรมดังกล่าว เนื่องจากการสูบบุหรี่จะลดระดับออกซิเจนในเลือด และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ อันส่งผลให้เสี่ยงเกิดแผลกดทับได้
ด้วยความห่วงใยและใส่ใจจากโรงพยาบาลบางปะกอก 3