7 วิธีป้องกันตัวจาก "ฟ้าผ่า"
ในช่วงที่มีพายุฝนและฤดูฝนนี้ เรามี 7 วิธีหลีกเลี่ยงและป้องกันตัวเองตัวเองจากฟ้าผ่า จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยมาฝากกันค่ะ
7 วิธีป้องกันตัวจาก "ฟ้าผ่า"
- ถ้าหลบในที่โล่งแจ้ง ให้นั่งชันเข่า ซุกศีรษะเข้าไประหว่างเข่า เขย่งเท้า เพื่อลดพื้นที่สัมผัสกับพื้นให้น้อยที่สุด อย่านอนหมอบกับพื้น เพราะกระแสไฟฟ้าอาจวิ่งตามพื้นได้
- อย่ายืนใต้ต้นไม้สูง รวมทั้งบริเวณใกล้เคียงกับต้นไม้ หรืออยู่ในที่สูงหรือใกล้ที่สูง
- ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือหรือถือร่มที่มีปลายเป็นเหล็กแหลมในพื้นที่โล่ง แจ้งเพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
- ถ้าอยู่ในอาคาร ให้อยู่ห่างจากพนัง ประตู หน้าต่าง หรือถ้าอยู่ในรถ ให้ปิดกระจกให้มิดชิด แต่อย่าสัมผัสกับตัวถังรถ
- เลี่ยงสัมผัสกับโลหะทุกชนิด เพราะโลหะเป็นตัวนำไฟฟ้าและอย่าอยู่ใกล้สายไฟ
- เลี่ยงการสัมผัสน้ำ เพราะเป็นตัวนำไฟฟ้าเช่นกัน
- อยู่ห่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ถอดสาย และ ควรถอดสายไฟ สายอากาศ สายโทรศัพท์ สายโมเด็ม ก่อนเกิดฝนฟ้าคะนอง อย่าทำเมื่อเกิดแล้ว
นอกจากนี้ควรถอดปลั๊กให้หมดถ้าทำได้ เพราะฟ้าอาจผ่าลงที่เสาไฟหรือสายไฟ ทำให้กระแสไฟฟ้ากระชาก ทำให้เกิดอันตราย และเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายได้
วิธีปฐมพยาบาลผู้ถูกฟ้าผ่า
- ก่อนอื่นให้สังเกตว่า ในบริเวณที่เกิดเหตุยังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่ ถ้ามี ก็ต้องทำการเคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันตัวเราเองจากการถูกฟ้าผ่า
- เราสามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว ดังนั้น จึงไม่ต้องกลัวว่าเราจะถูกไฟฟ้าดูด (ต่างจากกรณีคนที่ถูกไฟฟ้าดูด)
- การปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกฟ้าผ่า จะใช้วิธีเดียวกับผู้ที่ถูกไฟฟ้าช๊อต หากพบว่าผู้บาดเจ็บหมดสติไม่รู้ตัว หัวใจหยุดเต้น และไม่หายใจ ซึ่งสังเกตได้จากอาการที่เกิดขึ้น คือ ริมผีปากเขียว สีหน้าซีดเขียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมากหรือไม่เคลื่อนไหว ชีพจรบริเวณคอเต้นช้าและเบามาก ถ้าหัวใจหยุดเต้นจะคลำชีพจรไม่พบม่านตาขยายค้างไม่หดเล็กลง หมดสติไม่รู้สึกตัว ต้องรีบทำการปฐมพยาบาลทันที เพื่อให้ปอดและหัวใจทำงานจะต้องรีบทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ(CPR) ทันที และควรรีบแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ โทร BPK Hotline สายด่วน 1745 หรือ 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
ด้วยความห่วงใยและใส่ใจจากโรงพยาบาลบางปะกอก 3