รับมืออย่างไร? หากไม่อยากเป็นโรคกระดูกพรุน
รับมืออย่างไร? หากไม่อยากเป็นโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน คือ โรคกระดูกชนิดหนึ่งที่กระดูกเริ่มเสื่อมและบางลงเนื่องจากการสูญเสียแคลเซียมที่สะสมในกระดูก โรคนี้จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด นอกจากกระดูกแตกหรือหัก พบได้บ่อยบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพก หรือข้อมือ รวมทั้งยังสามารถเกิดได้กับกระดูกส่วนอื่นๆ ของร่างกายอีกด้วย ทั้งนี้โรคกระดูกพรุนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกหักหรือกระดูกสันหลังผิดรูป และที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไปเพียงแค่มีแรงกระแทกเบาๆ การบิดเอี้ยวตัวอย่างทันทีทันใด ไอจาม หรือลื่นล้ม ทำให้กระดูกสะโพกหรือกระดูกสันหลังหักได้ง่าย ก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่อาจร้ายแรงจนถึงขั้นพิการหรือทุพพลภาพตามมา
ภาวะกระดูกพรุนในระยะแรกมักไม่มีอาการ จึงเปรียบเสมือนภัยเงียบที่รอเวลาที่พร้อมจะทำให้กระดูกหักด้วยแรงกระทำเพียงเล็กน้อย เช่น หกล้ม เป็นต้น การมีกระดูกหักที่กระดูกสันหลัง หรือกระดูกสะโพก จะทำให้เกิดความพิการ คุณภาพชีวิตแย่ลง และบางครั้งอาจจะสูญเสียชีวิตได้ ดังนั้น ภาวะกระดูกพรุนนับเป็นปัญหาสำคัญ ในทางสาธารณสุข ประเทศไทยเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะกระดูกพรุน
แม้โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่พบได้กับทุกเพศทุกวัยและพบมากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น ถ้าหากเรารู้ถึงปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน จะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและช่วยป้องกันการเกิดหรือลดความรุนแรงของโรคกระดูกพรุนได้
ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
- เพศ ผู้หญิงเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าและเร็วกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะเมื่อหมดประจำเดือน หรือผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง การสลายกระดูกจะเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศ จึงเริ่มสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ถึง 40-50%
- อายุ มวลกระดูกของคนเราหนาแน่นที่สุดเมื่ออายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ
ผู้หญิงที่อายุเกิน 60 ปี โอกาสเกิดกระดูกพรุน 10 คน ใน 100 คน
ผู้หญิงที่อายุเกิน 70 ปี โอกาสเกิดกระดูกพรุน 20 คน ใน 100 คน
ผู้หญิงที่อายุเกิน 80 ปี โอกาสเกิดกระดูกพรุน 40 คน ใน 100 คน
- กรรมพันธุ์ ในครอบครัวที่พ่อหรือแม่มีโรคกระดูกพรุนแล้วมีกระดูกหัก ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วกระดูกหักด้วย
- เชื้อชาติ ชาวต่างชาติที่มีผิวขาวและคนเอเชียมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนสูง
ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้
- การบริโภคแคลเซียมไม่เพียงพอ
- สูบบุหรี่ สารพิษนิโคตินเป็นตัวทำลายเซลล์สร้างมวลกระดูกทำให้กระดูกบางลง
- ดื่มกาแฟ ชา แอลกอฮอล์มากกว่า 3 แก้วต่อวัน หรือน้ำอัดลมมากกว่า 4 กระป๋องต่อสัปดาห์
- ได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์นานเกิน 3 เดือน มีภาวะเสี่ยงต่อการหกล้ม
- ขาดการออกกำลังกาย
การวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุน ใช้ผลการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยวิธี Dual Energy X-ray Absorptiometry (DEXA)
การรักษาภาวะกระดูกพรุน แบ่งเป็น 2 วิธี คือ
- การรักษาโดยไม่ใช้ยา โดยลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่กล่าวไปแล้ว และเน้นภาวะโภชนาการที่มีแคลเซียม และวิตามินดีที่เพียงพอต่อร่างกาย การออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยสร้างกระดูกแล้ว ยังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ ตลอดจนช่วยเรื่องการทรงตัวด้วย
- การรักษาโดยใช้ยา มีหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ดูแล และพิจารณาถึงประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง และความสะดวกในการใช้ยาของผู้ป่วย
รู้ทันป้องกัน ก่อนสาย...!!!
- รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามินดี เพราะเป็นแร่ธาตุสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 2 – 3 ครั้งๆละ 1 ชั่วโมง หรือการทํากิจกรรมกลางแจ้ง เพียงวันละประมาณ 30-45 นาที โดยเฉพาะในช่วงเช้าและเย็น เพื่อให้ร่างกายได้รับการกระตุ้นการสร้างวิตามินดี
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และมีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เนื่องจากมีผลทำลายกระดูก
- งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่มีผลทำให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง
- ตรวจร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 50 ปีควรเข้ารับการตรวจวัดกระดูกเพื่อป้องกันการเสื่อมแต่เนิ่นๆ
ดังนั้นการป้องกันคือทางเลือกที่ดีที่สุด ทุกท่านควรตระหนักว่าภาวะกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบ ทุกท่านควรดูแลสุขภาพของกระดูกตั้งแต่เด็ก และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งผู้สูงอายุ หรือบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน หรือตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง
ด้วยความห่วงใยและใส่ใจจากโรงพยาบาลบางปะกอก 3