เมื่อเป็นแผล . . ปฐมพยาบาลอย่างไร ? ให้ลดอันตรายและป้องกันการติดเชื้อ
เมื่อเป็นแผล . . ปฐมพยาบาลอย่างไร ? ให้ลดอันตรายและป้องกันการติดเชื้อ
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ การเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ และการปฐมพยาบาลบาดแผลอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันอันตรายและลดอาการแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ก่อนที่จะไปดูถึงวิธีการหรือข้อปฎิบัติในการปฐมพยาบาลนั้น อยากให้ทุกท่านได้ทราบถึงชนิดของบาดแผลกันก่อน
ชนิดของบาดแผล แบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
- บาดแผลปิด
เป็นบาดแผลที่ไม่มีรอยแยกของผิวหนังปรากฏให้เห็นเกิดจากแรงกระแทกของของแข็งที่ไม่มีคม แต่อาจมีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อและเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนัง ซึ่งมองจากภายนอกจะเห็นเป็นลักษณะฟกช้ำ โดยอาจมีอาการปวดร่วมด้วยแผลประเภทนี้ที่พบเห็นได้บ่อยในชีวิตประจำวันก็คือฟกช้ำจากการมีสิ่งของตกหล่นใส่บริเวณร่างกาย เช่น ศีรษะ คนทั่วไปเรียก "หัวโน"
- บาดแผลเปิด
เป็นบาดแผลที่ทำให้เกิดรอยแยกของผิวหนัง แบ่งออกเป็น
2.1 แผลถลอก เป็นแผลตื้น มีผิวหนังถลอกและมีเลือดออกเล็กน้อย ไม่มีอันตรายรุนแรง พบบ่อยในชีวิตประจำวัน เช่นการหกล้ม การถูกขีดข่วน
2.2 แผลฉีกขาด เป็นแผลที่เกิดจากวัตถุที่ไม่มีคม แต่มีแรงพอที่จะทำให้ ผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังฉีกขาดได้ ขอบแผลมักจะขาดกระรุ่งกระริ่ง หรือมีการชอกช้ำของแผลมาก ผู้บาดเจ็บจะเจ็บปวดมากเพราะถูกบริเวณปลายประสาทเช่น บาดแผลจากการถูกรถชน บาดแผลจากเครื่องจักรกลหรือถูกแรงระเบิด
2.3 แผลตัด เป็นแผลที่เกิดจากอาวุธหรือเครื่องมือที่มีคมเรียบตัด เช่น มีด ขวาน ปากแผลจะแคบ เรียบ ยาว และชิดกัน ถ้าบาดแผลลึกจะมีเลือดออกมาก แผลชนิดนี้มักจะหายได้เร็วประมาณ 3-7 วัน เนื่องจากขอบแผลอยู่ชิดกัน
2.4 แผลถูกแทง เป็นแผลที่เกิดจากวัตถุที่มีปลายแหลมแทงเข้าไป เช่น มีดปลายแหลม ตะปู ปากแผลมักจะเล็กแต่ลึก ถ้าลึกมากมีโอกาสจะ ถูกอวัยวะที่สำคัญมักจะมีเลือดออกมา ทำให้ตกเลือกภายในได้
2.5 บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นแผลที่เกิดจากความร้อนแห้ง เช่น
ไฟไหม้ ความร้อนเปียก เช่น น้ำร้อนลวก การถูกกรด-ด่าง สารเคมีที่มีผลทำให้เนื้อเยื่อมีการบาดเจ็บเป็นอันตรายตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงแก่ชีวิต
หลักทั่วไปในการปฐมพยาบาลผู้ที่มีบาดแผล
- ให้ผู้บาดเจ็บนั่งหรือนอนในท่าที่เหมาะสมจะให้การปฐมพยาบาลสะดวก และเพื่อป้องกันการเป็นลมหรือช็อก
- ประเมินการเสียเลือดโดยการสังเกตการหายใจ และสังเกต ปริมาณการเสียเลือดออกจากแผล
- ถ้าบาดแผลมีเลือดออกมาก ต้องห้ามเลือดโดยวิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อให้เลือดหยุดก่อน จึงทำความสะอาดบาดแผล
- ถ้าผู้บาดเจ็บเป็นลม หรือช็อกต้องแก้ไขภาวะเป็นลมหรือช็อกก่อน
- กรณีที่มีการขาดของอวัยวะ เช่น นิ้วขาด มือขาด ให้ใช้ผ้าสะอาดปิดแผลและพันห้ามเลือดไว้ ส่วนอวัยวะที่ขาดห้ามฟอกหรือขัดถู ใส่อวัยวะนั้นลงในถุงพลาสติกหรือแก้วที่สะอาดปิดปากถุงหรือปากแก้วให้แน่น แช่ถุงหรือแก้วในกระติกน้ำแข็งหรือถุงบรรจุน้ำแข็ง ซึ่งวิธีนี้แลทะรีบส่งโรงพยาบาลพร้อมผู้บาดเจ็บ แพทย์จะได้ทำการรักษาต่อไป
- ในระหว่างการทำความสะอาดบาดแผลให้สังเกตลักษณะ บาดแผลเป็นแผลชนิดใด กว้าง ยาวและลึกประมาณเท่าใด ถ้ามีสิ่งที่หักคาอยู่ในแผลไม่ควรดึงออก เพราะจะทำให้เลือดออก มากขึ้น
- บาดแผลบริเวณแขนหรือขา เมื่อทำความสะอาดบาดแผลแล้วให้พักนิ่ง ๆ อาจใช้การเข้าเฝือกหรือใช้ผ้าคล้องห้อยแขนที่บาดเจ็บนั้นไว้
- นำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาต่อไป และหากบาดแผลทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ ได้ โทร BPK Hotline สายด่วน 1745 หรือ 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
นอกจากนี้ . . การดูแลรักษาความสะอาดหลังการทำแผลก็เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมาก ๆ และควรสังเกตอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการพักฟื้น เพราะเมื่อเกิดบาดแผลขึ้น ย่อมเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมาได้ แม้บาดแผลจะมีความสะอาด แต่บริเวณอวัยวะที่เกิดแผลอาจเป็นแหล่งที่อยู่ของแบคทีเรียจำนวนมาก ซึ่งเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่าย
ดังนั้น ผู้ป่วยควรสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ แล้วรีบไปพบแพทย์หากมีอาการเหล่านี้
- แผลไม่ดีขึ้นแม้เวลาผ่านไป
- บาดแผลมีเลือดไหลออกมาเรื่อย ๆ
- แผลมีอาการบวมเพิ่มขึ้น
- แผลมีอาการแดงและขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รอบแผล หรือมีรอยแดงเกิดขึ้นตามผิวหนังรอบ ๆ แผลเกิดความเจ็บปวดแม้หลังรับประทานยาแก้ปวดแล้ว หรือความเจ็บปวดนั้นขยายออกไปเป็นวงกว้างจากบาดแผลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
- บาดแผลมีสีคล้ำและแห้ง ขยายขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีความลึกมากขึ้น
- มีเลือดหรือหนองไหลออกมาจากแผล
- มีหนองสีเขียว เหลือง หรือสีน้ำตาล และหนองที่เกิดขึ้นนั้นส่งกลิ่นเหม็น
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ยาวนานเกินกว่า 4 ชั่วโมง
- มีก้อนที่กดแล้วเจ็บเกิดขึ้นบริเวณรักแร้หรือขาหนีบซึ่งเป็นเพราะต่อมน้ำเหลืองโตจากการติดเชื้อลุกลาม
ด้วยความห่วงใยและใส่ใจจากโรงพยาบาลบางปะกอก 3