ติดเค็ม. . เพิ่มเสี่ยง!! อ้วนลงพุง
ในปัจจุบันนี้โรคอ้วนและอ้วนลงพุงมีจำนวนเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุของการเกิดนั้นมาจากการที่กินมากเกินไป (overeating) จากการศึกษาพบว่ารสชาติของอาหารเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนกินอาหารมากขึ้น โดยพบว่า รสเค็มเป็นรสที่ส่งผลต่อการกินมากที่สุด
รสชาติเค็มเปรียบเหมือนยาเสพติดโดยเร่งการผลิตโดปามีน ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองส่งผลต่ออารมณ์ความพึงพอใจ ความสุข ทำให้เกิดความรู้สึกอยากอาหาร เมื่อติดรสชาติเค็มแล้วหากไม่ได้รสชาติเค็มก็จะรู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย รู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสีย นอกจากนี้ผู้ที่ติดรสชาติเค็มเพียงแค่นึกถึงอาหารที่มีรสชาติเค็มก็สามารถทำให้เกิดความรู้หิวและอยากอาหารขึ้นมา จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ที่ชอบกินเค็มอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่ชอบกินเค็มเนื่องมาจากพอความรู้สึกอยากอาหารมากขึ้น กินก็มากขึ้น โอกาสการได้รับพลังงานที่มาจากอาหารก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
สิ่งที่แสดงว่าคุณอาจได้รับความเค็มเกิน
- ชอบกินอาหารแปรรูปเป็นประจำ ยิ่งหากกินทุกวันยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมเกิน ในกลุ่มของอาหารแปรรูปจะมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบและมีปริมาณที่มากกว่าอาหารในกลุ่มของผัก ผลไม้สด รวมถึงกลุ่มข้าว ธัญพืช จากการศึกษาพบว่าคนในประเทศทางตะวันตกได้รับเกลือเกือบ 80 เปอร์เซนต์มาจากอาหารแปรรูป การที่อาหารแปรรูปเติมเกลือ (โซเดียม) เพื่อให้รสชาติเข้มข้น ยืดอายุการเก็บรักษา ผู้ที่ชอบกินอาหารแปรรูปมักจะชอบกินอาหารรสชาติเค็มมากกว่าผู้ที่ไม่ชอบกินอาหารแปรรูป
- เมื่อตรวจเลือดจะพบภาวะโซเดียมสูงในเลือด คือสูงมากว่า 145 mmol/L โดยอาการแสดงเช่น คอแห้ง กระหายน้ำ ปวดศีรษะ อารมณ์หงุดหงิด หากวัดความดันโลหิตจะพบความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการไหลเวียนของเลือด ช็อก หมดสติได้
- บวม เนื่องมาจากเกลือสามารถทำให้เกิดการกักน้ำในร่างกายเพื่อใช้ในการละลายความเข้มข้นของโซเดียมสามารถสังเกตุได้จากท้องป่อง หน้าบวม แขนบวม
- เมื่อนึกถึงอาหารที่มีรสชาติเค็มจะมีน้ำลายผลิตออกมาในปาก และอยากอาหารขึ้นมา
- ชอบรับประทานอาหารรสจัด อาหารส่วนใหญ่ที่มีรสจัด เช่นเผ็ดจัด จะมีความเค็มตามมาด้วย
- ขนมหรือของว่างที่ชอบกินมักจะอยู่ในรูปของขนมกรุบกรอบ ขนมกระป๋อง เช่นมันฝรั่งทอดกรอบ ปลาหมึกกรอบ ถั่วทอด ขนมปังกรอบ
- ชอบเติมเกลือ ซีอิ๊ว น้ำปลา หรือซ๊อสต่างๆในอาหารก่อนกิน
วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินเค็มให้ลดลง
- เลือกรับประทานอาหารสดจากธรรมชาติให้มากขึ้น เน้นผัก ผลไม้ สด และลดการกินอาหารแปรรูป
- อ่านฉลากโภชนาการเป็นประจำ เลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมือนกันแต่มีปริมาณของโซเดียมให้น้อยที่สุด หรือเลือกดูบรรจุภัณฑ์ที่มีคำว่า ลดการใช้เกลือ หรือ Low sodium
- เลือกน้ำเปล่าแทนที่น้ำหวานหรือน้ำผลไม้ เนื่องจากน้ำผลไม้ในปัจจุบันบางครั้งมีการเติมเกลือลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติ แต่จะยิ่งทำให้เราติดรสเค็มมากยิ่งขึ้น
- ชิมรสชาติอาหารก่อนปรุง เครื่องปรุงรสเค็ม
- ตั้งเป้าหมายในการกินเพื่อลดความเค็มลง โดยลดการเติมเครื่องปรุงในอาหาร
- เมื่อรับประทานอาหารนอกบ้าน อาจขอแยกซอสปรุงรสต่างๆ หรือขอเค็มน้อยแทน
ผู้ที่ชอบกินอาหารเค็มจะเสี่ยงต่อการได้รับปริมาณเกลือเกินไป ซึ่งคือการไม่ได้สัดส่วนของเกลือและน้ำในร่างกายส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับความดันโลหิต ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้การได้รับโซเดียมสูงในระยะยาวยังเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะกระดูกผุ และโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร การที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการชอบรับประทานเค็มอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเริ่มจากทีละขั้นตอนช้าๆเพื่อให้ร่างกายได้ปรับเปลี่ยนและเกิดความเคยชินจะทำให้ได้ผลในระยะยาวที่ดีกว่า
ด้วยความห่วงใยและใส่ใจจากโรงพยาบาลบางปะกอก 3