Bangpakok Hospital

ลูกน้อยท้องเสียบ่อย ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก

19 ส.ค. 2563


ท้องเสียในเด็ก : เกิดจากสาเหตุของการติดเชื้อโรคที่ผ่านจากการเล่นหรือทำกิจกรรมของเด็กโดยส่วนใหญ่เชื้อโรคจะเข้าไปทางปาก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบว่าเด็กจะเล่นของเล่นและมีการอมหรือกัดของเล่นนั้นๆเข้าไป รวมไปถึงมีการทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด และ มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคเข้าไป มักจะได้รับเชื้อเข้าไปก่อนแสดงอาการประมาณ 1-2 วัน เชื้อโรคที่ทำให้เด็กท้องเสียมักจะพบว่าเป็นเชื้อไวรัสมากกว่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไวรัสที่พบบ่อยในประเภทนี้คือ : โรต้าไวรัส,โนโรไวรัส,อะดีโนไวรัส การที่เด็กท้องเสียบ่อยๆหรือปล่อยให้ท้องเสียนานๆ จะส่งผลเสียต่อตัวเด็ก เพราะอาจส่งผลต่อพัฒนาการได้ คุณพ่อคุณแม่ควรรู้วิธีการดูแลเมื่อเด็กท้องเสียพร้อมไปกับวิธีป้องกันไม่ให้เสี่ยงรับเชื้อโรคกัน

สังเกตอาการเบื้องต้นอย่างไรถึงรู้ว่าเด็กท้องเสีย

1.ถ่ายอุจจาระเหลวใส 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน

2.ปวดท้อง งอแง มีอาการซึม ไม่ร่าเริง หรือ กินอาหารได้น้อยลง

3.ถ่ายเหลว มีน้ำออกมามากกว่ากากอุจจาระ หรือ ถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้งหรือมากกว่า

4.อาจมีไข้และอาเจียน โดยเฉพาะท้องเสียที่เกิดจากไวรัสโรต้าจะมีอาการอาเจียนอย่างหนักร่วมด้วย

เมื่อเด็กท้องเสียควรดูแลอย่างไร

1.สำหรับลูกที่ยังดื่มนมแม่อยู่ก็ยังคงทานนมแม่ได้ เนื่องจากน้ำนมแม่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกแข็งแรงสู้เชื้อโรคได้

2.หากลูกดื่มนมผสม ให้ชงนมสัดส่วนเท่าเดิม เพิ่มจำนวนมื้อนมให้ถี่ขึ้น แต่ปริมาณดื่มแต่ละมื้อน้อยลงเพื่อให้ลูกยังได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ แต่หากอาการถ่ายไม่ดีขึ้นหลัง 3 วัน อาจเปลี่ยนเป็นนมที่ปราศจากน้ำตาลแล็กโตส เนื่องจากช่วงท้องเสียเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เล็กส่วนที่ผลิตเอ็นไซม์แลคเตสจะถูกทำลาย โดยให้ดื่มต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากร่างกายสร้างเซลล์เยื่อบุลำไส้ขึ้นใหม่ทดแทนแล้วค่อยกลับมาดื่มนมปกติ

4.ลูกที่เริ่มกินอาหารเสริมในบางมื้อแล้ว ควรให้กินอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย โดยแต่ละมื้อควรป้อนทีละน้อย เพื่อให้ลำไส้ค่อยๆ ย่อยและดูดซึมสารอาหาร นอกจากนี้ควรงดน้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาก

5.ให้จิบน้ำเกลือแร่โออาร์เอบ่อยๆ เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายเสียไป

6.ไม่ควรให้กินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในลำไส้ไม่ถูกขับออกมา และอาจทำให้เชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้

อาการท้องเสียอย่างไรควรรีบพบแพทย์

1.ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกเลือด หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน

2.มีไข้สูงหรือชัก อาเจียนบ่อย ริมฝีปากแห้ง หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยหอบ

3.ไม่กินนมและอาหาร หรือดื่มน้ำเกลือแร่แล้วยังเพลียหรือซึมอยู่

4.ปัสสาวะน้อยมีสีเข้ม

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน  2 ชนิด คือ วัคซีนที่มีส่วนประกอบของเชื้อโรต้า 1 สายพันธุ์ และ 5 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดรับประทาน (หยอด) สามารถเริ่มให้กับทารกอายุตั้งแต่ประมาณ 6 – 12 สัปดาห์ ซึ่งการที่ต้องเริ่มให้ในช่วงอายุดังกล่าว เนื่องจากในช่วงสัปดาห์แรก ๆ เด็กทารกจะยังได้รับภูมิคุ้มกันที่สร้างจากรกและการกินนมแม่ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโรต้าจึงควรเริ่มต้นในช่วงอายุประมาณ 2 เดือน เนื่องจากเด็กจะเริ่มมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่รอบๆตัว

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.