อายุมากขึ้น เสี่ยงเป็น "ต้อกระจก"
"ต้อกระจก (Cataract)" เป็นการเสื่อมตามสภาพของอายุ เป็นภาวะที่เลนส์ภายในลูกตามีความขุ่นขาว จึงทำให้แสงที่จะผ่านเข้าไปในดวงตาไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ทำให้เกิดอาการตามัว มองเห็นภาพเบลอ การมองเห็นสีต่างๆจะมีคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ทั้งนี้อาการดังกล่าวอาจเกิดได้เร็วขึ้นหากมีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน
ลักษณะของอาการ จะเริ่มมีอาการ ตาพร่ามัวลง รู้สึกเหมือนมีหมอกบัง มองเห็นภาพซ้อนและมองเห็นแสงกระจายขณะขับรถตอนกลางคืน ในบางรายอาจมีตาพร่ามัวมากในที่ที่มีแสงสว่าง สู้แสงไม่ได้แต่กลับมองชัดในที่มืด ในรายที่เป็นต้อกระจกเล็กน้อย อาจมีสายตาเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ และเมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้น การเปลี่ยนแว่นสายตาก็จะไม่ทำให้การมองเห็นดีขึ้น
วัยไหนที่เสี่ยงเป็นต้อกระจก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีความเสื่อมของเลนส์ตาตามวัย แต่ก็มีอีกบางส่วนที่เป็นเป็นต้อกระจกด้วยสาเหตุอื่นๆ เช่น
- มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง ฯลฯ
- ต้อกระจกเป็นมาแต่กำเนิด
- เกิดจากกรรมพันธุ์โดยไม่ทราบสาเหตุ
- เกิดการกระทบกระเทือนที่ดวงตาอย่างรุนแรง หรือมีสิ่งแปลกปลอมกระเด็นเข้าไปในดวงตา
- การสูบบุหรี่
- การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตมาก
- การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดต้อกระจก
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์
- ระวังอย่าให้ดวงตาถูกการกระแทก
- ควรสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากสิ่งแวดล้อมภายนอก
- หากต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรแบ่งเวลาในการพักสายตาบ้าง
- งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
- พักผ่อนหรือนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง
- รับประทานอาหารที่ให้สารอาหารครบ 5 หมู่
- กรณีจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อหรือนำมาใช้
- ควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปควรตรวจเป็นประจำทุกปี
การรักษาต้อกระจก
ในระยะเริ่มต้น : ระยะแรกของการเป็นต้อกระจก การเปลี่ยนแว่นสายตาสามารถช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นได้
ในระยะยาว : เมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้น การมองเห็นแย่ลงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ ก็เป็นข้อบ่งชี้ให้แพทย์รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งวิธีที่นิยมใช้ผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบัน คือ การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) และใส่เลนส์เทียม การผ่าตัดจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสายตาให้กลับมามองเห็นได้เหมือนคนปกติทั่วไป และตาข้างที่เคยผ่าตัดแล้วจะไม่กลับมาเป็นต้อกระจกซ้ำอีก โดยภาพที่ได้จากการฝังเลนส์แก้วตาเทียมจะมีความใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุด ผู้ป่วยจึงปรับตัวได้ง่าย หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีอาการคันหรือรู้สึกไม่สบายตา อาจมีอาการน้ำตาไหล ดวงตาจะไวต่อแสงและการถูกสัมผัส ควรระมัดระวังการก้มหยิบสิ่งของบนพื้น งดเว้นการยกของหนัก หมั่นทำความสะอาดดวงตา และ ควรรับประทานยาตามแพทย์แนะนำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยในการรักษาประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังผ่าตัด หากมีอาการผิดปกติหลังผ่าตัดควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและรับการดูแลรักษาต่อไป