เคล็ดไม่ลับ..กับการดูแลช่องปากและฟันให้ลูกน้อย
วิธีดูแลช่องปากและฟันของลูกน้อยให้สวยงามแข็งแรง
เมื่อลูกน้อยเข้าสู่ช่วงวัยอายุประมาณ 6 เดือน ฟันน้ำนมจะเริ่มขึ้นให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นโดยฟันน้ำนมจะขึ้นจนครบและอยู่จนถึงอายุ 11-12 ปี หลังจากนั้นฟันแท้ก็จะเริ่มขึ้นมาทดแทน ซึ่งในช่วงที่ฟันน้ำนมขึ้นถือว่าเป็นช่วงสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลช่องปากและฟันของลูกให้เป็นอย่างดี เพราะการมีเหงือกและฟันน้ำนมที่สมบูรณ์แข็งแรงจะส่งผลต่อฟันแท้ที่จะขึ้นมาให้ดูเป็นระเบียบร้อยและสวยงาม โดยในช่วงที่ฟันน้ำนมเริ่มขึ้นลูกน้อยจะมีอาการเจ็บในช่องปาก ระบมเหงือก หรือฟันจนไม่อยากเคี้ยวหรือกินอาหาร ซึ่งจะส่งผลในด้านโภชนาการตามมา คือ อาจจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และอาจส่งผลกับการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรทำให้กระดูกขากรรไกรเจริญได้ไม่เต็มที่ส่งผลให้พัฒนาการด้านการพูดการออกเสียงของลูกไม่ชัดเจนตามมาด้วย
เราจะดูแลสุขภาพช่องปากเด็กแต่ละวัยอย่างไร
ในช่วงเด็กแรกเกิด ช่วงแรกเกิดที่ลูกยังฟันไม่ขึ้น สามารถทำความสะอาดได้โดยใช้ผ้าสะอาดนุ่มๆ เช็ดทำความสะอาดเหงือกลูกเบาๆ หลังดูดนมเสร็จ เช็ดบริเวณกระพุ้งแก้มและลิ้นด้วย
ช่วงเด็กอายุ 6 เดือน ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและให้ฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ หรือเมื่อฟันน้ำนมขึ้นแล้ว ควรใช้นิ้วพันผ้าถูทำความสะอาดที่บริเวณฟันของลูกให้สะอาดเช่นเดียวกับการทำความสะอาดเหงือก ในช่วงนี้ฟันของลูกยังเล็กอยู่ ทำให้การแปรงฟันโดยใช้แปรงสีฟันไม่สะดวกเมื่อเทียบกับการใช้ผ้าพันนิ้วของคุณแม่
ช่วงเด็กอายุ 1-3 ปี ช่วงนี้เป็นช่วงที่ฟันของลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น และสามารถเริ่มใช้แปรงสีฟันสำหรับเด็กได้แล้ว คุณแม่ควรเริ่มสอนลูกแปรงฟัน โดยลองแปรงฟันให้ลูกก่อน และฝึกให้ลูกรู้จักการบ้วนน้ำก่อนที่จะให้ลูกแปรงฟันด้วยตัวเอง เพราะหากลูกเผลอกลืนยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เข้าไปก็อาจส่งผลเสียกับฟันของลูกได้
ช่วงเด็กอายุเด็ก 3-4 ปี เด็กเริ่มแปรงฟันเองได้แล้ว แต่ก็คงต้องคอยตรวจเช็คความสะอาดหลังแปรงฟันทุกครั้ง นอกจากนี้ควรพาลูกไปพบหมอฟันเป็นประจำเพื่อเช็คสุขภาพปากและฟัน รวมถึงรับคำแนะนำในการดูแล เพราะเด็กวัยนี้ชอบกินขนมขบเคี้ยว หรือบางกิจกรรมอาจทำให้มีปัญหาฟันได้ เช่น การว่ายน้ำ เป็นต้น
ช่วงเด็กอายุเด็ก 6 ปีขึ้นไป เป็นช่วงที่ฟันแท้เริ่มขึ้นมาทดแทนแล้ว ทำให้ฟันน้ำนมจะเริ่มโยกและหลุดไปเอง แต่หากฟันแท้ขึ้นมาแล้ว แต่ฟันน้ำนมยังไม่ยอมหลุดนานเกิน 3 เดือน ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา หรือ ถอนฟันน้ำนมออกเพื่อฟันแท้จะได้ขึ้นได้อย่างเป็นระเบียบ
วิธีการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของลูก
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติหวาน หรือ ขนมที่มีน้ำตาล
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งคือ เช้า และ ก่อนนอน หรือ ควรแปรงฟันทุกครั้งหลังทานอาหาร
- พาลูกไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่เด็กๆ
- สอนลูกบ้วนปากและแปรงฟันให้ได้ด้วยตัวเอง เมื่อลูกสามารถบ้วนปากได้อาจเริ่มสอนให้ลูกแปรงฟันด้วยตัวเอง โดยการจับมือลูกหัดก่อน และใช้ยาสีฟันขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว รวมทั้งเลือกยาสีฟันสำหรับเด็กที่ไม่มีฟลูออไรด์
เคล็ดลับการการเลือกยาสีฟันและแปรงสีฟันสำหรับเด็ก
- ให้ลูกเลือกแปรงสีฟันรวมถึงอุปกรณ์การแปรงฟันตามที่ลูกชื่นชอบ เพื่อกระตุ้นให้เด็กอยากแปรงฟัน
- การเลือกแปรงสีฟันควรเลือกให้เหมาะสมในแต่ละวัย และให้เหมาะกับขนาดปากและฟันของลูก ขนต้องนุ่ม ที่จับต้องถนัดกับมือเด็กจะทำให้จับได้ถนัดมือ
- เลือกยาสีฟันที่มีกลิ่นและรสผลไม้ที่เด็กชอบ และควรเลือกยาสีฟันที่มีไซลิทอล หรือสารให้ความหวานจากธรรมชาติคุณภาพสูงที่ไม่ก่อให้เกิดฟันผุ
- เลือกยาสีฟันที่ไม่มีสารโซเดียม ลอรีล ซัลเฟต หรือ SLS เพื่อความปลอดภัยของเด็ก
- การเลือกยาสีฟัน ควรเลือกยาสีฟันสูตรปราศจากฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันการเผลอกลืนยาสีฟันโดยไม่ตั้งใจ โดยยาสีฟันที่ไม่มีฟลูออไรด์ในบางชนิดจะทดแทนด้วยแคลเซียม และ ฟอสเฟต ซึ่งจะช่วยป้องกันฟันผุอย่างได้ผลเช่นเดียวกัน