Bangpakok Hospital

ของใช้ที่คุณแม่มือใหม่ ควรเตรียมไว้ก่อนคลอด

21 ก.ย. 2563


แนะนำอุปกรณ์ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมไว้ก่อนคลอด

คุณแม่มือใหม่หลายท่านมักจะเกิดความกังวลเมื่อถึงช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเตรียมตัวก่อนคลอด การเตรียมตัวด้านสุขภาพร่างกาย รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมไปคลอดที่โรงพยาบาลเพราะบางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไงดี วันนี้จึงขอแนะนำสิ่งที่ต้องเตรียมการไว้ก่อนคลอดสำหรับคุณแม่มือใหม่เพื่อให้หายกังวลใจในเวลาที่ไปคลอดหรือเผื่อไว้กรณีคลอดก่อนกำหนด โดยแบ่งเป็นสองเรื่องหลักๆคือ การเตรียมความพร้อมของสุขภาพร่างกายและการเตรียมของใช้ก่อนคลอดที่โรงพยาบาล

การเตรียมความพร้อมของสุขภาพร่างกาย

  • การเตรียมตัวก่อนคลอดอย่างแรก คือ การไปตรวจเช็กสุขภาพครรภ์ตามที่คุณหมอนัดทุกครั้ง ซึ่งเดือนที่ 9 ของการตั้งครรภ์คุณหมอจะนัดคุณแม่ตรวจครรภ์ทุกสัปดาห์ เพราะคนท้องบางรายอาจมีอาการเจ็บครรภ์และคลอดที่อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ (คลอดก่อนกำหนด) จึงต้องเช็กความพร้อมของร่างกายคุณแม่อย่างสม่ำเสมอและเพื่อดูอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์
  • การตรวจสุขภาพก่อนถึงสัปดาห์ของการคลอดเพื่อเตรียมตัวคลอด คุณหมอจะดูความพร้อมของทารกที่อยู่ในครรภ์ว่าอยู่ในท่าที่ส่วนนำ (ศีรษะ) เคลื่อนกลับลงมารออยู่ที่อุ้งเชิงกรานของคุณแม่หรือยัง (ในบางกรณีที่ทารกไม่กลับศีรษะอาจไม่สามารถคลอดเองตามธรรมชาติได้จะต้องใช้การผ่าคลอดเข้ามาช่วย) ซึ่งหากแพทย์ทราบพัฒนาการของทารกในครรภ์โดยคร่าวๆ ก็จะง่ายต่อการประเมินในการให้คุณแม่เตรียมตัวคลอดได้

 
การเตรียมอุปกรณ์ของใช้ก่อนคลอดที่โรงพยาบาล

คุณแม่ควรจัดกระเป๋าเตรียมของใช้ไว้ก่อนคลอดให้เรียบร้อยล่วงหน้าอย่างน้อยประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนถึงวันครบกำหนดคลอดเพราะหากมีอาการเจ็บท้องจะได้พร้อมไปโรงพยาบาลทันทีโดยไม่ต้องกังวล

อุปกรณ์ในกระเป๋าของคุณแม่ที่ควรเตรียมให้พร้อมก่อนถึงกำหนดคลอด

  • บราให้นม เพื่อความสะดวกในการให้นมลูกได้ตลอดเวลา
  • เสื้อผ้าและชุดชั้นใน ควรเลือกชุดที่ใส่สบายและสวมง่าย และสามารถให้นมลูกได้ง่าย 
  • แผ่นซับน้ำนม ป้องกันคราบน้ำนมที่อาจไหลซึมเปื้อนบนเสื้อ
  • ผ้ารัดหน้าท้อง ช่วยกระชับเอวและพยุงสรีระของคุณแม่เพื่อให้เคลื่อนไหวได้สะดวกสบายขึ้น
  • แผ่นอนามัย หลังคลอดจะมีน้ำคาวปลาออกมาคล้ายประจำเดือน ซึ่งทางโรงพยาบาลอาจจัดเตรียมไว้ให้แต่คุณแม่ก็ควรมีเตรียมไว้สำรองด้วย
  • เครื่องสำอางเล็กๆ ติดกระเป๋าไว้เติมให้หน้าสดใส เพื่อต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมและเตรียมตัวกลับบ้านแบบสวยๆ
  • ของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน แปรงสีฟัน โฟมล้างหน้า หวี ครีมบำรุงผิว 
  • โทรศัพท์มือถือ ใช้สำหรับไว้ถ่ายรูปลูกน้อย และควรพกเบอร์โทรฉุกเฉินไว้ด้วย เช่น เบอร์คุณหมอฝากครรภ์ เบอร์โรงพยาบาล หรือเบอร์ญาติใกล้ชิด
  • เอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เอกสารหรือสมุดฝากครรภ์ ใบนัดแพทย์ บันทึกการตั้งครรภ์ เอกสารประกันสุขภาพ รวมถึงชื่อลูกน้อย เพื่อใช้สำหรับแจ้งเกิด
  • ชุดใส่กลับบ้าน อาจใช้ชุดที่เคยใส่ขณะตั้งครรภ์เพราะหลังคลอดแล้วน้ำหนักตัวของคุณแม่ยังไม่สามารถลดลงได้ทันที
  • รองเท้า ควรเลือกแบบส้นเตี้ยหรือรองเท้าแตะ เพื่อให้สวมใส่แล้วรู้สึกสบายสำหรับเดินในห้องและในโรงพยาบาล

 อุปกรณ์ของลูกที่ต้องจัดไว้ในกระเป๋าควรมีอะไรบ้าง?

  • สมุดบันทึกลูกน้อย เพื่อจดบันทึกพัฒนาการต่างๆ ของลูกน้อย
  • เสื้อผ้าเด็กอ่อน ควรเลือกเนื้อผ้าที่ไม่ระคายผิว ใช้เชือกผูกหรือกระดุมที่ง่ายต่อการสวมใส่ ปราศจากเหลี่ยมคมที่จะบาดผิวรวมถึงควรเตรียมหมวก ถุงมือ ถุงเท้าเพื่อให้ความอบอุ่นและป้องกันเล็บข่วนหน้าตัวเอง โดยซักให้เรียบร้อยด้วยน้ำยาซักผ้าเฉพาะของเด็กอ่อน และมีจำนวนเพียงพอสำหรับใช้ในโรงพยาบาล
  • ผ้าอ้อม เพื่อใช้ทำความสะอาดทารก หรือใช้รองอุ้มเพื่อป้องกันผิวทารกน้อยสัมผัสกับตัวผู้ใหญ่โดยตรง ควรเลือกผ้าที่มีความอ่อนนุ่ม และมีสีอ่อน ๆ ให้มองเห็นสิ่งแปลกปลอมที่อาจติดมากับผ้าได้ง่าย
  • ผ้าอ้อมสำเร็จรูป (แพมเพิร์ส) ควรเลือกชนิดแบบเทป เพื่อความกระชับสะดวกในการสวมใส่ และยังสามารถปรับให้พอดีกับทารกได้
  • ผ้าห่มหรือผ้าห่อตัว ผ้าเนื้อนุ่มที่ค่อนข้างหนา ช่วยให้ลูกน้อยอุ่นสบายและรู้สึกมั่นคงเมื่อถูกอุ้ม และใช้ห่อตัวลูกน้อยกลับบ้าน
  • ทิชชู่เปียกและสำลี นอกจากเช็ดทำความสะอาดก้นทารกน้อยแล้ว คุณแม่ยังสามารถใช้ทำความสะอาดเต้านมได้ ควรเลือกชนิดที่ปราศจากน้ำหอมหรือปราศจากสารที่อาจทำอันตรายต่อผิวที่บอบบางของทารก
  • วาสลีน ใช้สำหรับทาบริเวณก้นก่อนใส่ผ้าอ้อมเพื่อป้องกันผดผื่น
  • แชมพูอาบน้ำ สระผม และฟองน้ำธรรมชาติ สำหรับอาบน้ำทารกแรกเกิด อย่าลืมผ้าเช็ดตัวเนื้อนิ่มไว้สำหรับเช็ดตัวทารกหลังอาบน้ำ

 

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.